ศธ.ปรับรูปแบบการสอบโอเน็ตใหม่ หวังใช้พัฒนาศักยภาพผู้เรียน เชื่อมนโยบายฟื้นสอบเทียบ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.ปรับรูปแบบการสอบโอเน็ตใหม่ มุ่งระบบสอบโอเน็ตพลัส หวังใช้พัฒนาศักยภาพผู้เรียน เชื่อมนโยบายฟื้นสอบเทียบเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อวันที่ 10-11 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการสอบดังกล่าวให้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งตนรับทราบข้อมูลว่าการสอบโอเน็ตป.6 ม.3 และม.6 นั้นไม่ได้มีการนำผลโอเน็ตไปมีผลต่อการเรียนต่อ เหมือนเป็นการสอบซ้ำซ้อนเพิ่มภาระนักเรียน แต่ขณะนี้นโยบายของตนคือต้องการให้เด็กเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งตนจะฟื้นเรื่องการสอบเทียบ ดังนั้นเราจะต้องมีมาตรฐานการวัดความรู้และทักษะของผู้เรียนด้วย ซึ่งโอเน็ตจะตอบโจทย์นโยบายการฟื้นสอบเทียบของตนได้ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวทางว่าการสอบโอเน็ตจะให้เป็นการสอบในรูปแบบไหนอย่างไรบ้าง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสทศ.ไปร่วมกันคิดวิเคราะห์วางแนวทางกันต่อไป
“หากการสอบโอเน็ตไม่ได้มีการนำผลมาใช้ประโยชน์ก็อาจไม่ถูกต้อง เพราะอยากให้การศึกษาของเด็กแต่ละช่วงชั้นได้มีข้อสอบวัดและประเมินผลว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนจุดด้อยในวิชาไหน เพื่อนำผลสอบมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ เพราะหากเราไม่มีระบบข้อสอบวัดประเมินผลผู้เรียนและปล่อยตามธรรมชาติก็ไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ว่าเด็กอ่อนวิชาอะไร หรือจะต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนหรือไม่ โดยในส่วนนี้ก็อาจจะนำเกณฑ์มาประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการวัดและประเมินผลของครู ซึ่งหากเราใช้ข้อสอบวัดได้ ต่อไปก็จะรู้แล้วว่าเด็กมีจุดอ่อนจุดด้อยตรงไหน เช่น หากเด็กอ่อนวิชาคณิตศาสตร์ก็เท่ากับว่าครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ไม่แข็งพอ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลมาปรับหลักสูตรหรือกระบวนการผลิตและพัฒนาครูได้” รมว.ศธ.กล่าว
ต่อข้อถามว่าการวิเคราะห์การสอบโอเน็ตครั้งนี้เท่ากับว่าในอนาคตจะมีการฟื้นการสอบโอเน็ตมาใช้กับระบบการสอบเทียบใช่หรือไม่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ตนคิดว่าในอนาคตอาจเป็นการสอบโอเน็ตรูปแบบใหม่หรือโอเน็ตพลัส เพราะการสอบโอเน็ตรูปแบบเดิมเป็นการจัดสอบที่ไม่ครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักหรือสอบไม่ครบทุกวิชา แต่ต่อไปหากวิชาไหนที่ผู้เรียนเรียนผ่านอยู่แล้วและมีวิชาไหนที่ยังไม่ได้สอบก็มาสอบเพิ่มจากการสอบโอเน็ตพลัสได้ ซึ่งเหมือนเป็นการสะสมหน่วยกิต ทั้งนี้ส่วนตัวอยากให้มีการเริ่มใช้การสอบโอเน็ตพลัสในปีนี้ทันที เพราะไม่อยากให้เสียเวลา โดยตนขอย้ำว่าการสอบโอเน็ตไม่ได้เป็นการบังคับแต่อยากให้เป็นการสอบด้วยความสมัครใจ และนำการสอบโอเน็ตนี้ไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ แต่ถ้าไม่มีการสอบวัดโอเน็ตเลยเราก็ไม่สามารถรู้ผลที่จะยกระดับการพัฒนาการศึกษาและผู้เรียนได้ เพราะเท่าที่ทราบบางโรงเรียนก็มีใช้ผลคะแนนการสอบโอเน็ตมาวัดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลิวส์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:37 น.