ก.พ.อ.เห็นชอบร่างกม.เพิ่มเงินเดือนอาจารย์ 8%
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ก.พ.อ.ผ่านร่างกม.เพิ่มเงินเดือนอาจารย์8%ก.พ.อ.เห็นชอบร่างกม.เพิ่มเงินเดือนอาจารย์ 8%มอบสกอ.นำขึ้นร่างขึ้นเวบฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอครม. พร้อมหาช่องช่วยคนอ่านผลงานไม่ให้ถูกฟ้อง
วันนี้( 31 ม.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนครูและอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 8 ซึ่งกลุ่มอาจารย์ได้เรียกร้องให้มีการแก้กฏหมาย เพื่อให้ ก.พ.อ.มีอำนาจในการเยียวยา และที่ประชุมเห็นชอบร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีสาระสำคัญคือกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น เพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม ก.พ.อ.อาจกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการเยียวยาโดยให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีๆไปก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นำร่างดังกล่าวไปประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา77 กำหนด ให้รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่างกฎหมายทั้งหมดด้วย โดยสกอ.จะนำร่างดังกล่าวเผยแพร่ผ่านทางเวบไซต์ของ สกอ. เร็ว ๆนี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารืออย่างกว้างขวางถึงกรณีปัญหาการหาผู้เชี่ยวชาญที่จะให้มาช่วยอ่านผลงานทางวิชาการ ซึ่งขณะนี้หาได้ยากมากเนื่องจากพบปัญหาคือมีการถูกฟ้องร้องหลายกรณี เช่น ผู้อ่านเลือกปฏิบัติ หรือ ไม่มีความยุติธรรมในการอ่านหรือไม่ เป็นต้น ขณะที่เงินค่าตอบแทนสำหรับผู้อ่านผลงานวิชาการก็มีความแตกต่างกันในแต่ละมหาวิทยาลัย ที่มีอัตราตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท ต่อการอ่านแต่ละเรื่อง ซึ่งทำให้เกิดข้อครหาว่ากรณีให้เงินค่าตอบแทนที่สูงเป็นสิ่งจูงใจให้ผ่านหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมมีข้อเสนอทางออกเรื่องนี้ได้แก่1.ใช้แนวทางการอ่านผลงานทางวิชาการเหมือนต่างประเทศ โดยให้ถือว่าการได้อ่านผลงานทางวิชาการนั้นเป็นเกียรติ โดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่วงการวิชาการไทยว่าจะดำเนินการหรือไม่ 2.การกำหนดค่าตอบแทนการอ่านผลงานวิชาการควรจะให้มีมาตรฐานกลางหรือไม่ และ 3.หามาตรการในการคุ้มครองผู้อ่านที่อาจจะถูกร้องเรียน ทั้งการดำเนินการและค่าใช้จ่ายเมื่อถูกร้องเรียน โดยมอบให้อนุกรรมการด้านกฎหมายของ ก.พ.อ.ไปพิจารณาความเป็นไปได้ในแนวทางต่างๆ ดังกล่าวและนำมาเสนอ ก.พ.อ.ต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 31 มกราคม 2561 เวลา 17.58 น.