หวั่นจับครูสอบโอเน็ตกระทบสัมพันธ์ศิษย์-ครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หวั่นจับครูสอบโอเน็ตกระทบสัมพันธ์ศิษย์-ครู"ชาญณรงค์" หวั่นครูสอบโอเน็ตได้คะแนนน้อยกว่าเด็ก ชี้จะทำลายสัมพันธภาพระหว่างศิษย์-ครู แนะไม่เปิดเผยคะแนน ขณะที่การติดตั้งกล้องวงจรปิด ควรนำร่องบางส่วน คำนึงถึงประโยชน์ และความคุ้มค่าให้มากที่สุด
วันนี้ (15 ม.ค.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีข้อเสนอเรื่องการพัฒนาครู โดยอยากให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูวิธีการสอนของครู รวมถึงมีนโยบายให้ครูสอบก่อนสอน เช่น สอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา แต่ สมศ. เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก ดังนั้นจะไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าหากปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจริง การประเมินครูก็จะเป็นไปอย่างเข้มข้น อีกทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด หากมีการบันทึกข้อมูลไว้ก็สามารถทำเป็นระบบออนไลน์ ซึ่ง สมศ. สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินได้ด้วย ทั้งนี้อาจจะนำร่องทดลองติดตั้งเพียงจำนวนหนึ่งก่อน เพื่อดูประโยชน์ที่เกิดขึ้น และความคุ้มค่า หากได้ผลดีจึงค่อยขยายต่อไป เพราะถ้าปฏิเสธแนวคิดใหม่ๆ โดยยังไม่ได้ทดลองทำ ก็คงจะเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป
“การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูวิธีการสอนของครู อาจจะมีข้อดีตรงที่ได้เห็นพฤติกรรมการสอนของครูว่าปฏิบัติตามหน้าที่หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในห้องเรียน แต่อาจจะมีข้อเสียในเรื่องของงบประมาณที่ค่อนข้างสูง เพราะหากใช้ประโยชน์ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปก็น่าเสียดาย เพราะเงินตรงนั้นอาจจะนำมาพัฒนาครูด้านอื่นได้มากกว่า ส่วนการทดสอบครูก่อนสอนนั้น มองว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพราะเป็นการกระตุ้นและพัฒนาครู แต่ก็ต้องคำนึงถึงกรณีที่ครูอาจจะได้คะแนนน้อยกว่าเด็ก เนื่องจากเด็กอาจมีการเตรียมพร้อมเพื่อทำข้อสอบตลอดเวลา ไม่เหมือนครูที่มีภาระต่างๆ มากมาย ก็เปรียบเสมือนครูมวยที่หากให้ลงมาต่อยมวยเองกับนักชกก็อาจสู้ไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจจะกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างครูและนักเรียนด้วย เช่น ไม่เคารพครู เพราะมองว่าตนเองเก่งกว่าครู ตนจึงคิดว่าหากจะจัดทดสอบควรทำในเชิงลับ ไม่ต้องเปิดเผยคะแนนให้ทราบโดยทั่วไป และนำคะแนนนั้นมาใช้ในการพัฒนาครูจะดีกว่า” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 15.00 น.