"อ๋อย"หวังเด็กชายแดนใต้หันเข็มเรียนอาชีวะ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับทราบข้อเสนอจากผู้บริหาร ครู และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงการจัดการศึกษาสายอาชีพ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในปีการศึกษา 2556 ที่ผ่านมา สัดส่วนนักเรียนที่เรียนสายอาชีวศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีจำนวนน้อยกว่านักเรียนสายสามัญมาก โดยมีสัดส่วนระหว่างนักเรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญอยู่ที่ 6:94 ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปดำเนินการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้สัดส่วนของผู้เรียนสายอาชีพต่อสายสามัญสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เบื้องต้นทราบว่า สอศ.มีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอยู่
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า เด็กพื้นที่ภาคใต้ให้ความสำคัญกับการเรียนศาสนา จึงนิยมศึกษาต่อในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมากกว่า ทำให้เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือการศึกษาภาคบังคับ จึงไม่ค่อยสนใจเลือกเรียนต่อสายอาชีพในระดับ ปวช.เท่าใดนัก สวนทางกับระดับ ปวส.ที่แนวโน้มผู้เรียนสูงขึ้น เพราะเด็กที่จบ ม.6 แต่ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็มาเลือกเรียนสายอาชีพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอศ.ได้หาวิธีการที่จะเพิ่มผู้เรียนในระดับ ปวช.ในพื้นที่ภาคใต้ให้มากขึ้น โดยร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนปอเนาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 10 โรง จัดการเรียนการสอนหลักสูตร ปวช.ควบคู่กับการเรียนการสอนศาสนา โดยเมื่อเด็กจบการศึกษาก็จะได้วุฒิระดับ ปวช.ด้วย นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์ฝึกอบรมอาชีพในอำเภอห่างไกลและอำเภอหน้าด่านชายแดน จำนวน 22 ศูนย์ และจัดให้มีทุนอาชีวศึกษาระดับ ปวช./ปวส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในส่วนของศูนย์ฝึกอบรมนั้นได้รับความสนใจทั้งจากนักเรียนและประชาชนที่สนใจอยากฝึกอาชีพอย่างมาก เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีวิทยาลัยที่สอนอาชีพมากนัก
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนในพื้นที่ภาคใต้นั้น สอศ.กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยอมรับว่าหากจะให้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10% นั้นค่อนข้างยาก เพราะภาพรวมการกำหนดสัดส่วนผู้เรียนจะดูจากผู้ที่จบ ม.3 ว่าจะเลือกเรียนสายสามัญและสายอาชีพเท่าไร เช่น ปีการศึกษา 2556 มีผู้จบการศึกษาระดับภาคบังคับประมาณ 9 แสนราย ในจำนวนนี้เรียนสายสามัญ 5 แสนราย สายอาชีพ 3 แสนราย และอีก 1 แสนรายไม่เรียนต่อ ซึ่งอาชีวะมองว่าเราน่าจะต้องดึงคนในกลุ่มนี้เข้ามาสู่สายอาชีพมากขึ้น ซึ่งก็ให้นโยบายวิทยาลัยทุกแห่งดำเนินการ เชื่อว่าจะสะท้อนภาพของผู้เรียนสายอาชีพที่เพิ่มขึ้นได้