แชร์กันเลย! สพฐ.เตรียมเปิดสอบครูผู้ช่วย ล็อตใหม่ 1,000 อัตรา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
กดดัน ศธ.เร่งฟันคดีทุจริต"ครูผู้ช่วย"ก่อนเปิดสอบรอบใหม่สพฐ.เตรียมเปิดสอบครูผู้ช่วย ล็อตใหม่ 1,000 กว่าอัตราโดยให้เขตพื้นที่ดำเนินการ จับตาโยกย้าย ผอ.เขตประถม-มัธยม ทดแทนอัตราเกษียณ/สอบแข่งขัน 30 อัตรา
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ครั้งหน้าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(ผอ.สพป.)และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(ผอ.สพม.)เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือเกษียณอายุราชการ จากนั้นประมาณ 1-2 เดือนจะเปิดสอบคัดเลือกแต่งตั้งผอ.สพป.และผอ.สพม.เฉพาะตำแหน่งที่ว่างอยู่ประมาณ 30 กว่าอัตรา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ 19 ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องในศาลปกครอง หากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาให้ผู้ฟ้องชนะสพฐ.ก็ยังมีอัตราเพื่อบรรจุกลุ่มที่ฟ้องได้แต่หากคำพิพากษาออกมาว่าดำเนินการชอบก็สามารถดำเนินการคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งหรือเรียกผู้ที่สอบขึ้นบัญชีมาบรรจุแต่งตั้งได้
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่านอกจากนี้ สพฐ.ดำเนินการให้เปิดสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยหลังจากการโยกย้ายข้าราชการครูประจำปี 2556 ซึ่งการเปิดสอบแข่งขันจะจัดสรรจากอัตราเกษียณอายุราชการประจำปี 2556 ที่สพฐ.ได้รับคืนมาประมาณ 13,000 อัตราจะแบ่งการสอบแข่งขันเป็น 2 ส่วนคือ การสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ประมาณ 75% จากอัตราเกษียณฯที่ได้รับจัดสรรคืนมา และกรณีการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษหรือ ว12 ประมาณ25 % จากอัตราเกษียณฯ ซึ่งน่าจะเปิดสอบใหม่ 1พันกว่าอัตราได้ ทั้งนี้ในการเปิดสอบคัดเลือกรอบใหม่นี้จะใช้หลักเกณฑ์ตามที่ก.ค.ศ.กำหนดเหมือนเดิม อาทิ สพฐ.ไม่ได้ดำเนินการออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบเองแต่จะให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ และการสอบจะเพิ่มการสอบสัมภาษณ์หรือการสอบภาค ค จากเดิมที่มีแค่การสอบข้อเขียนภาค ก และภาค ข เท่านั้น
ทั้งนี้ในการเปิดสอบคัดเลือกรอบใหม่นี้ จะใช้หลักเกณฑ์ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดเหมือนเดิม อาทิ สพฐ.ไม่ได้ดำเนินการออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบเอง แต่จะให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการ และการสอบจะเพิ่มการสอบสัมภาษณ์ หรือการสอบภาค ค จากเดิมที่มีแค่การสอบข้อเขียนภาค ก และภาค ข เท่านั้น
ด้าน นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยตัวแทนสภาคณบดีฯ ได้เข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อยื่นข้อเสนอพร้อมรับฟังนโยบายและแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาวงการวิชาชีพครู
โดยสภาคณบดีฯ ได้ขอให้ ศธ.เป็นผู้นำในการพัฒนาวิชาชีพครู ให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ด้วยการวางแผนการผลิตให้มีระบบและมีคุณภาพ จัดทำข้อมูลความต้องการครูอย่างละเอียด โดยขอให้มีตัวเลขความต้องการหน่วยงานผู้ใช้ครู ในแต่ละสังกัดล่วงหน้า 5-10 ปี และกำหนดให้การวางแผนผลิตครูเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกันนี้ ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการครูมืออาชีพให้มีความชัดเจน และต่อเนื่องเพื่อจูงใจคนดีคนเก่งมาเรียนครู
ขณะเดียวกันสภาคณบดีฯ ขอให้ ศธ.ให้การดูแลในด้านต่างๆ แก่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ อาทิ เรื่องงบประมาณ อัตรากำลัง เงินเดือนค่าจ้างอาจารย์ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันฝ่ายผลิต พร้อมขอให้สภาคณบดีฯ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวงการวิชาชีพครูในทุกด้าน เช่น การพัฒนาหลักสูตรใหม่ เป็นต้น
นายสุรวาท กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ประธาน ส.ค.ศ.ท.เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ โดยตำแหน่ง เพื่อร่วมให้ความเห็นการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอย่างเหมาะสม และยังเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของสภาคณบดีฯ ที่ต้องการให้ ศธ. เร่งรัดหาผู้กระทำความผิดกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วยมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพ โดยเฉพาะการจูงใจคนดีคนเก่งมาเป็นครูในอนาคต
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 23 ตุลาคม 2556