ผุด 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ นร.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ผุด 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ นร.ศธ.เห็นชอบ 8 ยุทธศาสตร์ พัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษเน้นสื่อสารใช้ประโยชน์ได้จริง
วันที่ 21 ต.ค.56 นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นนฐาน (สพฐ.) เสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษพ.ศ.2556-2561 ใน 8 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างครู ทั้งครูวิชาเอกภาษาอังกฤษ และพัฒนาครูที่ไม่ใช่วิชาเอกภาษาอังกฤษ รวมถึงสร้างครูรุ่นใหม่ และจัดหาครูชาวต่างชาติ/ครูเจ้าของภาษามาสอนเพื่อพัฒนาครูและนักเรียน
2.พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ระดับผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงศึกษานิเทศก์ ที่ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น
3.พัฒนาและส่งเสริมการใช้สื่อนวัตกรรม
4.พัฒนาหลักสูตร/การจัดการเรียนรู้โครงการพิเศษ ทั้งการพัฒนาหลักสูตร English Program (EP) Mini English Program (MEP) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มจำนวนโรงเรียน EP และ MEP เพิ่มจำนวนห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ พัฒนาห้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบเข้ม รวมถึงพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพสำหรับนักเรียนขยายโอกาส
5.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ
6.พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ระหว่างภาคเรียนและปิดภาคเรียน โดยเฉพาะค่ายภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องจัดอย่างน้อย 3 สัปดาห์ โดยที่ผ่านมาสพฐ.ได้ทดลองลงไปจัดค่ายภาษาอังกฤษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ดังนั้นสพฐ.ตั้งเป้าว่า ในช่วงปิดภาคเรียน จะจัดค่ายภาษาอังกฤษจำนวน 77 ค่าย ค่ายละ 1 จังหวัด ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท
7.ยุทธศาสตร์การประเมินผลสำฤทธิ์ผู้เรียน โดยเร่งพัฒนาคลังข้อสอบ จัดสอบวัดระดับความรู้ ในชั้น ม.3 และ ม.6
และยุทธศาสตร์ที่ 8 การวิจัยเพื่อพัฒนา โดยจะนำรูปแบบประเทศที่สามารถจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้ประสบความสำเร็จ มาวิจัยเพื่อพัฒนาปรับใช้กับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย
"โดยเบื้องต้นจะลงไปดูประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ บรูไน ดารุสซาลาม มาเลเซีย ซึ่งวิธีการสอนภาษาอังกฤษใน 3 แนวทาง คือ 1.สอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 2.สอนภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน และ 3.สอนภาษาอังกฤษขั้นสูง สำหรับใช้ในการเรียนต่อระดับปริญญาโท และเอก ซึ่งขณะนี้บ้านเราเน้นสอนภาษาอังกฤษขั้นสูง คือเรียนเหมือนกันทุกคน ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกันหมด แต่ควรจะเน้นการเรียนที่สามารถนำไปใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้จริง โดยรัฐมนตรีว่าการศธ. ได้เน้นย้ำว่า จากนี้ทุกสังกัดจะต้องส่งเสริม และพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการจัดห้องเรียน Intensive อย่างเข้มข้น ให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้เรียนที่เรียนภาษาอังกฤษและสามารถนำไปใช้ได้จริงๆ มากขึ้น ไม่ใช่ว่าให้เด็กเรียนแต่กลับไม่สามารถใช้ในการสื่อสารได้จริง"
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะกรรมการจัดหาสื่ออิเล็คทรอนิกส์ ที่จะบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ตามโครงการ 1 แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน โดยคณะกรรมการฯชุดนี้จะไปว่าคอนเท็นต์ใดที่ มีอยู่แล้ว และเรื่องใดที่ยังขาด และดำเนินการจัดเนื้อหาสาระความรู้ต่างๆ มาบรรจุในแท็บเล็ตให้เกิดความสมบูรณ์และไม่ซ้ำซ้อน
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 21 ตุลาคม 2556