เพิ่มเงินเดือนลูกจ้าง สพฐ. 15,000 บาท
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 355/2556สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการ รร. แสดงความขอบคุณในการปรับเงินเดือน
ศึกษาธิการ - ตัวแทนจากสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย กลุ่มครูอัตราจ้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย และสมาคมลูกจ้างประจำที่มีวุฒิทางการศึกษาและใบประกอบวิชาชีพครู เข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงความขอบคุณในการปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่นๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้ให้ข้อคิดในประเด็นต่างๆ ดังนี้
● ความสำเร็จในการปรับอัตราค่าจ้างเกิดจากความร่วมมือหลายฝ่าย
การปรับอัตราค่าจ้างในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทั้ง ศธ. และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) รวมทั้งคณะผู้แทน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสนใจ ได้ร่วมหารือ และพิจารณาอย่างมีเหตุผลและเป็นขั้นตอน จนเมื่อพบว่ามีความเป็นไปได้ จึงได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ จากเดิมที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน ก็ได้ดำเนินการให้เสร็จเร็วขึ้นภายในเดือนตุลาคมแทน และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 เพื่อปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่นๆ ของ สพฐ.ที่จ้างด้วยงบดำเนินงาน ให้เทียบเท่าการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ
● ย้ำจะพิจารณาดำเนินการข้อเรียกร้องอื่นๆ ให้เพิ่มเติมด้วย
ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่ยังคั่งค้าง คือ ด้านสิทธิค่ารักษาพยาบาล ค่าบำเหน็จ การคัดเลือกเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะรับไว้พิจารณา แต่สำหรับข้อเรียกร้องการขอเพิ่มอัตราพนักงานราชการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะต้องแยกพิจารณาว่ามีผลกระทบกับส่วนอื่นอย่างไร โดยจะรวบรวมข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาด้วยความมีเหตุมีผล มีประโยชน์ อะไรที่สามารถดำเนินการได้ ก็ยินดีดำเนินการ ซึ่งบางเรื่องอาจมีความยากง่ายต่างกัน ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูล ติดตาม ตรวจสอบสถานะ การดำเนินงานจากท่านทั้งหลาย
● หากกระทบส่วนอื่น ก็ต้องแก้ไขในส่วนที่กระทบนั้นด้วย
ขณะนี้เรื่องของบุคลากรทางการศึกษามีจำนวนมากและหลากหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ โดยจะรวบรวมและนำไปพิจารณาตามลำดับความสำคัญความจำเป็นเร่งด่วนว่า เรื่องใดจะใช้งบประมาณเท่าใด ส่งผลกระทบอย่างไร เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ำว่าจะพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ เพราะเข้าใจดีถึงความลำบากเดือดร้อน ซึ่งต้องการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานมีความมั่นคงในอาชีพ สามารถที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้บางเรื่องจะส่งผลกระทบต่อหลักการทั่วไป หากจำเป็นก็ต้องแก้ไขด้วย เช่น การปรับค่าจ้างในครั้งนี้ สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณไว้ แต่ที่ผ่านมาเกรงว่าจะไปกระทบกับหน่วยงานอื่นที่อาจจะไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และเป็นภาระจำนวนมาก ที่ผ่านมาจึงไม่กล้าเสนอ แต่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เข้าใจปัญหา และเห็นว่าหากกระทบกับส่วนอื่น ก็จะต้องแก้ไขในส่วนที่กระทบเช่นกันด้วย
● เตรียมจัดการปฏิรูปการศึกษา 4 ภูมิภาค ในเดือน พ.ย.2556
โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องอาศัยทุกฝ่าย เพื่อให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่จะต้องมีการรวมพลังจริงๆ ทั้งผู้บริหาร ครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา ให้ช่วยคิดผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ช่วยติดตามข่าว กิจกรรมการปฏิรูปการศึกษา การสัมมนา และการจัดนิทรรศการ ซึ่งตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ศธ.มีโครงการประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. สู่การปฏิบัติ "รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา" ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น
- ภาคกลาง ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
- ภาคใต้ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช
- ภาคเหนือ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรมอัมรินทร์ลากูน จ.พิษณุโลก
หากงานเหล่านี้จัดขึ้นในพื้นที่หรือใกล้พื้นที่ใด ก็ขอให้ไปเข้าร่วม ไปชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพราะจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน การพัฒนาครู ซึ่งรวมถึงครูอัตราจ้างและครูที่เป็นลูกจ้างด้วย
● ฝากแนวทางการพัฒนาข้าราชการครูและครูอัตราจ้าง
ขอให้ช่วยคิดว่าจะมีแนวทางพัฒนาข้าราชการครู รวมทั้งครูอัตราจ้างด้วย เพราะ ศธ.ต้องการพัฒนาระบบให้เชื่อมโยงกับความมั่นคงอาชีพ ขณะนี้เรามีลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นครูผู้สอน 42,000 คน และเป็นครูธุรการ 6,000 คน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ว่าจะพัฒนากันอย่างไร ให้มีความมั่นคงทางอาชีพอย่างไร เป็นเรื่องควรจะทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่มั่นคงทางอาชีพโดยไม่ได้รับการพัฒนา หรือมั่นคงทางอาชีพแบบที่ทำวิทยฐานะ แต่พบว่าจำนวนไม่น้อยมั่นคงมากขึ้น วิทยฐานะสูงขึ้น แต่คุณภาพของนักเรียนในโรงเรียนนั้นกลับลดลง
● เน้นกระบวนการพัฒนาอบรมให้ครูมั่นคงในอาชีพ
เมื่อมีแนวทางการพัฒนาแล้ว ต้องคิดต่อว่าจะใช้รูปแบบการอบรมพัฒนาแบบใด ใช้สื่อทางไกล หรือเทคโนโลยีทางการศึกษาเข้ามาช่วยหรือไม่ อาจจะจัดโครงการแบบนำร่องอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลานาน หรือจะทำแบบรวดเร็วก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ จะอบรมพัฒนาอย่างไร ใช้กระบวนการอะไร วิธีการอย่างไร ฝากให้ช่วยคิด เพราะสุดท้ายแล้ว ความมั่นคงทางอาชีพก็ต้องมี ทุกอาชีพต้องมีความมั่นคง หากทำให้การศึกษาดี ก็ต้องมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความมั่นคงทางอาชีพเช่นกัน
ย้ำว่าการจะปฏิรูปการศึกษาได้ ต้องให้บุคลากรทางการศึกษาและทุกส่วนในสังคม ได้มีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และต้องได้รับการอบรมพัฒนาเพื่อให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นด้วย
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 18 ตุลาคม 2556