อ๋อยยอมรับต้องเน้นวิชาเด็กไทยเรียนอ่อน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
อ๋อยยอมรับต้องเน้นวิชาเด็กไทยเรียนอ่อน"จาตุรนต์" ยอมรับปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบอาจให้ความสำคัญทุกวิชาไม่เท่ากัน เพราะต้องเน้นวิชาที่สำคัญ เด็กไทยมีคะแนนตกต่ำ ทั้งการอ่าน คิดวิเคราะห์ วิทยาศาสตร์ แต่ยืนยันทุกวิชามีคุณภาพหมด พร้อมสั่ง คกก.ปฏิรูปหลักสูตรให้ความสำคัญข่าวสารโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้นขึ้น หวัดลดแรงต้านหลักสูตรใหม่
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มอาจารย์นาฏศิลป์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ออกมาทวงถามถึงเหตุผลการตัดรายวิชานาฏศิลป์ออกจากร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ และ ศธ.เคยชี้แจงไปแล้วว่าไม่ได้ตัด ส่วนที่ว่าเป็นเพราะ ศธ.มีนโยบายที่จะเน้นยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการประเมินระดับนานาชาติของนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับตามโครงการ Programme for International Student Assessment หรือ PISA จึงทำให้ต้องตัดรายวิชาที่ไม่ส่งผลต่อการประเมินออกนั้น คนอาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่การปฏิรูปการเรียนการสอนต้องปฏิรูปให้ครอบคลุม ในหลักสูตรมีกี่กลุ่มสาระก็ต้องยกระดับคุณภาพให้ครอบคลุมเหมือนกันหมด
"แต่การที่เราจะยกตัวอย่างการเรียนการสอนแบบใหม่ จำเป็นต้องเลือกบางด้าน บางสาขาวิชาที่เห็นประเด็นชัดเจนว่าคุณภาพการเรียนการสอนตกต่ำจริงๆ คนเห็นปัญหา โดยเฉพาะทักษะด้านภาษา การอ่านการคิดวิเคราะห์ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญต่อการเรียนในอนาคต และถ้าเด็กเก่งใน 3 ด้านนี้ จะทำให้เด็กเรียนวิชาต่างๆ ได้ดี ไม่ได้หมายความว่าเราจะเน้นยกระดับคุณภาพเฉพาะวิชาดังกล่าว” นายจาตุรนต์กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้พบว่ายังมีการตั้งประเด็นหลุดโลกใหม่ๆ ทั้งกรณีจะไม่ให้มีการเรียนการสอนวิชาดนตรีไทย ไม่ให้มีนาฏศิลป์ เหมือนกับยังไม่รับรู้ในสิ่งที่ตนเคยอธิบายไปแล้ว ในทางกลับกันมุมมองต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นกระจกที่สะท้อนกลับมาที่ ศธ.ว่าอาจจะยังทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งคณะ สาขาวิชาต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไปไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ดังนั้นตนจึงมอบให้คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานไปเร่งทำการประชาสัมพันธ์โดยเปิดโอกาสให้คนรับรู้และเข้าใจมากขึ้น
"ยอมรับอีกว่าการปรับหลักสูตรของ ศธ.ครั้งที่ผ่านๆ มาเกิดขึ้นในช่วงที่การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กยังไม่มีความแพร่หลายเท่าปัจจุบัน ดังนั้นการปรับหลักสูตรครั้งนี้ควรจะต้องมาให้ความสำคัญกับโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น ขณะเดียวกันอาจจะต้องย้อนกลับไปอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อนำแนวคิดใหม่ๆ มาปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเน้นเรื่องทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในอนาคต อย่างการสอนให้คนรู้จักการคิดวิเคราะห์ มีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับหลักสูตรและการปรับการเรียนการสอนจึงเป็นเรื่องควบคุมกัน ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวด้วย" นายจาตุรนต์กล่าว.
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 17 ตุลาคม 2556