จาตุรนต์ สั่ง ก.ค.ศ.ทบทวนมติ คดี 344 ทุจริตสอบครูผู้ช่วย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
จาตุรนต์ สั่ง ก.ค.ศ.ทบทวนมติ คดี 344 ทุจริตสอบครูผู้ช่วย"จาตุรนต์" สั่ง ก.ค.ศ.ทบทวนมติ 344 ทุจริตสอบครูผู้ช่วย หารือข้อกฎหมายให้ชัดเจน ย้ำคุ้มครองผู้สุจริตและเอาผิดกับคนทุจริตให้ได้
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.56 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ามีเรื่องยุ่งยาก ซึ่งเป็นเรื่องเดิมที่ต่อเนื่องมา คือจากมติที่เมื่อวันที่17พ.ค.56 ให้แจ้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ดำเนินการเพิ่มเติมกับผู้เข้าสอบจำนวน 344 คน ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แจ้งว่าเข้าข่ายกระทำการทุจริตในการสอบ หากได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้วให้ดำเนินการตาม มาตรา 49 เนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี สำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และเป็นผู้กระทำการทุจริตในการเข้าสอบรับราชการ
จากนั้นต่อมา ก.ค.ศ.ได้มีมติเพิ่มเติม ในการดำเนินการให้ผู้มีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง ไปดำเนินการสอบสวน ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตจริงหรือไม่ และล่าสุดก.ค.ศ. มีมติส่งเรื่องคืนให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาทบทวนการดำเนินการ
ซึ่งมติ เหล่านี้ ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการ ก.ค.ศ. เองเกิดความสับสน มีความเข้าใจในมติที่แตกต่างกัน ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร รวมถึงประเด็นในข้อกฎหมายก็ยังไม่มีความชัดเจน อาทิ ผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับเข้ารับราชการได้หรือไม่
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของ ก.ค.ศ.ที่ต้องดำเนินการมีใจความอย่างไร หากจะดำเนินการทางใดทางหนึ่ง ก็เกรงว่าจะเกิดปัญหา ว่าการดำเนินการจะไม่มีผลตามกฎหมาย อาทิ เมื่อให้ครูออกจากราชการด้วยเหตุผลตามข้อกฎหมาย ที่ไม่ถูกต้องก็จะกลายเป็นไม่มีผล
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ ก.ค.ศ.ไปรวบรวมความคิดเห็น รวมถึงหารือกับฝ่ายกฎหมาย และไปทำข้อสรุปให้ชัดเจน และนำกลับมาให้ ก.ค.ศ.พิจารณาอีกครั้งว่า มติที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นอย่างไร และมีอะไรที่จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย และให้เสนอมาด้วยว่าแนวทางที่ควรจะต้องปฏิบัติควรจะเป็นอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม คุ้มครองผู้สุจริต และเอาผิดกับคนที่ทุจริตให้ได้
"เมื่อดำเนินการไปแล้วยอมรับว่า เรื่องนี้มีความยุ่งยากทางกฎหมายค่อนข้างมาก หากทำอะไรแบบด่วนสรุปก็จะทำให้เรื่องทั้งหมดไม่เป็นผลทางกฎหมายได้ ดังนั้นการนัดชี้แจง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ที่นัดไว้ในวันที่ 16 ต.ค.56 ก็คงต้องเลื่อนชี้แจงไปก่อน เพื่อรอข้อสรุปจาก ก.ค.ศ.และนัดประชุมครั้งต่อไปในปลายเดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบางส่วนมีการดำเนินการให้ออกจากราชการ โดยไม่มีการสอบสวนเพราะคิดว่าเป็นมติของ ก.ค.ศ."
นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า ส่วนกรณี ที่ดีเอสไอส่งหนังสือให้ ก.ค.ศ.แจ้งให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วยจำนวน 2,161 ราย หลังจากมีการสืบสวนสอบสวนพบว่าผู้สมัครสอบคัดเลือก เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่
1.ผู้สมัครสอบได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนหรือหนังสือรับรองสิทธิที่ออกให้โดยคุรุสภา ตามคำสั่งจ้างหรือสัญญาจ้างรวมกันไม่ครบ 3 ปี
2.สัญญาจ้างที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอนมีระยะเวลารวมกันไม่ครบ 3 ปี
และ 3.การรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครสอบที่ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย นั้น
ตนได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว และขอให้ ก.ค.ศ.ไปดำเนินการแจ้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติครูผู้ช่วยทั้งหมด หากพบว่าขาดคุณสมบัติจริง ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติราชการ
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 15 ตุลาคม 2556