LASTEST NEWS

23 ธ.ค. 2567ข่าวดี! โรงเรียนสวนกุหลาบฯ เพชรบูรณ์ ประกาศหยุดพิเศษ 2-3 ม.ค. 68 เปิดโอกาสใช้เวลาอบอุ่นกับครอบครัวช่วงปีใหม่ ยาว ๆ 9 วันเต็ม 23 ธ.ค. 2567สพป.อุบลราชธานี เขต 3 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย สพป.อุบลราชธานี เขต 5 จำนวน 23 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 23 ธ.ค. 2567โรงเรียนบ้านหนองบัว รับสมัครครูอัตราจ้าง วุฒิปริญญาตรีทุกสาขา เงินเดือน 6,000 บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 25 ธันวาคม 2567 21 ธ.ค. 2567ปฏิทินการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างลูกจ้างประจำ ประจำปี 2568 20 ธ.ค. 2567สพป.บึงกาฬ เรียกบรรจุครูผู้ช่วย (ขอใช้บัญชี สพม.หนองคาย) จำนวน 3 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 20 ธ.ค. 2567​​​​​​​กรมบัญชีกลาง เปิดสอบพนักงานราชการ 27 อัตรา ไม่ต้องผ่าน ภาค ก ตั้งแต่ 3 - 24 มกราคม 2568 19 ธ.ค. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย เขตอื่น ใช้บรรจุ 2 วิชาเอก 13 อัตรา รายงานตัว 26 ธันวาคม 2567 19 ธ.ค. 2567สพป.มหาสารคาม เขต 2 เผยบัญชีตำแหน่งว่างใช่บรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 5  19 ธ.ค. 2567สพป.อุดรธานี เขต 4 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 45 อัตรา 18 ธ.ค. 2567ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 10/2567

ยุบ-ไม่ยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก เด็กก็ต้องมีคุณภาพ

  • 25 มิ.ย. 2556 เวลา 05:26 น.
  • 2,854
ยุบ-ไม่ยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก เด็กก็ต้องมีคุณภาพ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

นโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาดูเหมือนจะผ่อนไปตามกระแสวิจารณ์ของผู้รู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้างไปแล้วทั้งที่ความเป็นจริงทุกฝ่ายต่างก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากน้อยแค่ไหน หากยังปล่อยให้เป็นอยู่เช่นนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือเด็กในพื้นที่ไม่ใช่ลูกหลานของผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นแน่ การจะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนที่ว่านี้จึงต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาเสียงของผู้ปกครองในท้องถิ่นดูเหมือนจะดังไม่พอหรือขาดการใส่ใจที่จะนำไปปฏิบัติตาม
 
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยได้ไปพบเห็นการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก จึงอยากจะสะท้อนภาพความเป็นจริงอีกแง่มุมหนึ่งให้ทราบกัน กล่าวคือ ทุกฝ่ายต่างทราบกันดีว่าเด็กในชนบทส่วนใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำถึงต่ำมากด้วยความยากจน การมุ่งหาเลี้ยงชีพของผู้ปกครอง ทำให้ไม่มีเวลาใส่ใจกับการเรียนรู้ของบุตรหลาน บางรายต้องปล่อยให้เด็กอยู่กับคนแก่ ส่วนเด็กเองก็ขาดความที่จะพัฒนาทั้งด้านไอคิว ปัญหาสุขภาพ การใช้ภาษาถิ่น ทำให้การพัฒนาเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อต้องเข้าไปเรียนกับโรงเรียนที่ขาดแคลนทั้งครู สื่อ อุปกรณ์ งบประมาณ และปัจจัยอื่น ๆ ด้วยแล้วก็คงพอเดาออกว่าคุณภาพของเด็กจะเป็นเช่นไรจะอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร เพราะแค่การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นเช่นอดีต คงไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กระดับรากหญ้าได้ก้าวพ้นจากวงจร โง่ จน เจ็บ ไปได้ ดังนั้นการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้องมุ่งไปที่คุณภาพเด็กเป็นหลัก ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 กรณี ตามบริบทของพื้นที่ที่เป็นอยู่
 


ขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
 
กรณีแรก คือ การยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่การคมนาคมสะดวกเพื่อเด็กจะได้ไปเรียนโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า การที่จะมัวรอให้โรงเรียนขนาดเล็กเข้มแข็งด้วยตนเองจากการช่วยเหลือของประชาชนในพื้นที่คงเป็นได้แค่ทฤษฎี เพราะชุมชนเองก็อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่ในตัว สิ่งที่พอจะช่วยได้ก็แค่แรงใจและแรงกายเท่านั้น ส่วนการที่คิดกันว่าวิธีการอื่น ๆ จะช่วยพัฒนาได้ไม่ว่าจะเป็นการนำเด็กไปเรียนร่วมบางชั้น บางวิชา บางวัน ซึ่งก็ล้วนแต่เคยทำมาแล้วผลสำเร็จก็อย่างที่เห็นกันอยู่ด้วยขาดความต่อเนื่องของการดำเนินการหรือจะนำวิธีสอนแบบคละชั้นตามจำนวนครูที่มีอยู่คุณภาพก็คงเกิดได้ไม่เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคนด้วยแต่ละระดับชั้นจะมีเนื้อหา สาระมาตรฐานการเรียนรู้ต่างกัน หากใช้วิธีนี้อาจฉุดรั้งเด็กระดับชั้นที่สูงกว่าไปด้วย
 
โดยเฉพาะทักษะที่ต้องฝึกหรือเล่นเป็นทีมหรือหมู่คณะ เช่น ดนตรี  กีฬา ลูกเสือ ยุวกาชาด ชมรม ชุมนุม เมื่อเด็กไม่พอทำกิจกรรม รวมถึงการขาดครูและอุปกรณ์เฉพาะทาง การพัฒนาจะให้สำเร็จจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามบริบทดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะดำเนินการให้เกิดผลอย่างจริงจังภาครัฐคงจะต้องสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นกับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ให้ได้ก่อน
 
กลุ่มแรก คือ ผู้ปกครอง ที่ยังมีลูกหลานเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นถึงคุณภาพเด็กที่จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในภายภาคหน้า เพราะความเป็นจริงแล้วคงไม่มีพ่อแม่คนใดที่ไม่อยากเห็นลูกหลานได้ดีหรือได้เรียนโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า แต่ด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายและความไม่มั่นใจกับความปลอดภัยในการเดินทางจึงคิดว่าโรงเรียนใกล้บ้านน่าจะสะดวกที่สุดแถมทำให้มีเวลาดูแลคนแก่อีกด้วย ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนคลายความกังวลจากสิ่งเหล่านี้ภาครัฐจะต้องดำเนินการสิ่งต่อไปนี้ให้เป็นรูปธรรม เช่น  ประกันชีวิตให้กับเด็ก มีผู้ดูแลระหว่างเดินทาง จัดค่าพาหนะสอดคล้องกับระยะทางและบริบทของพื้นที่เป็นต้น กลุ่มที่สอง คือ ครูและผู้บริหารโรงเรียน ที่ส่วนใหญ่เกรงว่าตำแหน่งจะถูกลดหรือถูกย้ายไปอยู่ที่ไกลส่วนนี้ก็ต้องมีความชัดเจนให้กับผู้ปฏิบัติเช่นกัน กลุ่มที่สาม ได้แก่ ผู้นำชุมชน ที่ยังอยากเห็นชุมชนมีบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) เช่นอดีตที่ผ่านมา ทั้งที่อาจจะไม่มีลูกหลานเรียนอยู่ในท้องถิ่นหรือส่งไปเรียนที่อื่นนานแล้ว  ส่วนนี้ก็ต้องชี้แจงให้เห็นความสำคัญลูกหลานคนอื่นด้วยเช่นกัน

ขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

กรณีที่ 2  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ตามป่า เขา เกาะแก่ง ตะเข็บชายแดน ส่วนนี้คงไปยุบไม่ได้ เพราะยุบแล้วอาจทำให้เด็กเสียโอกาสหรือออกกลางคันได้ ด้วยปัญหาการเดินทางและความไม่ปลอดภัย เมื่อยุบไม่ได้จะไปปล่อยให้โรงเรียนจัดการศึกษาตามความพร้อมที่มีอยู่ไม่ได้ จำเป็นจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพให้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะความพร้อมด้านบุคลากร ให้เพียงพอกับการพัฒนาการไปยึดติดอยู่กับกรอบ ADB ที่กำหนดครูต่อเด็ก 1 : 25 อย่างที่ผ่านมาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้วคงใช้ไม่ได้ เพราะมีเด็กน้อยอยู่แล้ว เฉพาะโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน ก็จะเป็นหมื่นแห่งอยู่แล้วหากกำหนดเช่นนั้นโรงเรียนเหล่านี้ก็จะมีครูได้แค่ 2-3 คน แต่ต้องสอน 6 ชั้น เมื่อรวมถึงสารพัดงานที่ต้องทำเหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ด้วยแล้วครูก็หมดแรงไปแล้วคุณภาพเด็กจึงเกิดได้ยาก นอกจากการเพิ่มจำนวนครูให้พอแล้วยังจำเป็นต้องเฟ้นหาครู  ผู้บริหารมืออาชีพไปให้อีกด้วย เพราะการที่จะพัฒนาเด็กที่ขาดความพร้อมสารพัดปัจจัยให้ไปสู่เป้าหมายได้ต้องใช้มืออาชีพดำเนินการ ซึ่งการที่จะดึงมืออาชีพไปอยู่โรงเรียนขนาดเล็กได้ก็จะต้องมีสิ่งจูงใจในด้านเงินเดือนค่าตอบแทน และความก้าวหน้าด้านวิทยฐานะ เป็นสิทธิพิเศษให้ด้วย
 
ด้านงบประมาณ จะต้องจัดสรรเงินเป็นก้อนให้พอกับการพัฒนาทักษะแต่ละด้าน โดยเฉพาะการนำไปใช้แก้ปัญหาสุขภาพและทุพโภชนาการของเด็ก เพราะหากยังจัดให้ตามรายหัวทุกเรื่อง โรงเรียนก็จะมีเงินใช้แก้ปัญหาและพัฒนาปีละไม่กี่บาท ส่วนที่จะไปหวังการช่วยเหลือจากภายนอกก็เป็นไปได้ยากหรือมีจำนวนน้อยมาก รัฐจึงต้องเป็นผู้จัดหาให้เอง 
ด้านหลักสูตร คงจะต้องปรับให้สอด คล้องกับคุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กในบริบทดังกล่าวทั้งด้านสุขภาพอนามัย สุขนิสัยในการดำเนินชีวิต ทักษะอาชีพรวมถึงการอ่านออก เขียนได้  คิดเลขเป็น เพราะหากยังใช้หลักสูตรเดียวกับเด็กในเมืองที่ต้องเรียนมากมายหลายกลุ่มวิชาคงเกาไม่ถูกที่คันเพราะเป้าหมายและศักยภาพต่างกัน สิ่งที่ควรเน้นหนักจะต้องเป็นทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ที่จะทำให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหามากกว่าที่จะให้เก่งวิชาการ แต่งานในวิถีชีวิตประจำวันทำไม่เป็นสักเรื่องอย่างที่เด็กไทยส่วนใหญ่เป็นกันอยู่คงไม่ได้
 

ขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
 
ด้านบริหารจัดการ จะต้องลดหรือเลิกโครงการ กิจกรรม งานเอกสาร งานฝากรวมถึงการสอบโอเน็ต และการประเมินของ สมศ.เพราะงานเหล่านี้เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้รับประโยชน์น้อยมาก ด้วยไม่ตรงกับคุณภาพชีวิตที่ต้องการให้เกิดและที่สำคัญไปเบียดบังเวลาการสอนของครูให้เป็นงานรอง แต่งานทั้งหลายที่ว่ามากลับกลายเป็นงานหลักของครูไป
 
ดังนั้นการยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป้าหมายจะต้องอยู่ที่คุณภาพของเด็กเป็นหลัก โดยในส่วนที่การเดินทางสะดวกก็น่าจะยุบเพื่อเด็กจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และเหลือทรัพยากรไปให้กับโรงเรียนที่ยุบไม่ได้ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบไม่ได้ภาครัฐก็ต้องหาวิธีการ รวมถึงเพิ่มปัจจัยที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กให้พร้อมทุกด้าน ซึ่งการลงทุนเพื่อคุณภาพเด็กจะมัวช้าหรือมัวคิดแบบธุรกิจกลัวลงทุนแล้วไม่คุ้มค่าคงไม่ได้เพราะบุคลากรของชาติแม้แต่คนเดียวก็มีความสำคัญต่อประเทศชาติเพราะเด็กเก่งคนเดียวอาจนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ในทางกลับกันเด็กไม่ดีแค่คนเดียวในอนาคตอาจสร้างความวุ่นวายเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้เช่นกัน หากไม่อยากเห็นอนาคตของเด็กและของชาติต้องอ่อนด้อยลงไปมากกว่านี้ก็ต้องช่วยกันสร้างเด็กทุกคนให้มีคุณภาพสูงสุดตามศักยภาพที่มีอยู่ให้ได้นั่นเอง.
 
กลิ่น สระทองเนียม
 
 
  • 25 มิ.ย. 2556 เวลา 05:26 น.
  • 2,854

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : ยุบ-ไม่ยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก เด็กก็ต้องมีคุณภาพ

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^