โจทย์ใหญ่การศึกษาไทย'เลือกเรียนอย่างไร...จบไปไม่ตกงาน'
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การฟังกรณีตัวอย่างทั้งสองโรงเรียนนี้ แสดงถึงการศึกษาที่มุ่งแก้ไขปัญหาและสร้างอาชีพให้ชุมชน เป็น "การคืนการศึกษาให้ชีวิต" เช่น ที่ ผอ.นิพนธ์ ตาระกา ร.ร.อนุบาลโคกเจริญ เล่าว่า ให้เด็กเรียนทอผ้าเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สิ่งที่ได้คือ นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถถ่ายทอดให้ครอบครัวและชุมชนได้
ขณะที่ ผอ.สุพรรณ สุวรรณ์นัง ร.ร.วัดหนองกบ เชื่อว่า ถ้าเอาเรื่องอาชีพเป็นตัวเดินเรื่องจะสร้างทักษะคืนสู่การศึกษาที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นได้ "การศึกษาจึงจำเป็นต้องเอาปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาโรงเรียนเอาสถาบันเป็นตัวตั้ง เพราะจะสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งมีพลัง โดยอาจเริ่มจากการทำแม็พพิ้งในพื้นที่ แล้วก็เรียนรู้วิธีขับเคลื่อนกันเป็นจังหวัด”
ทองอินทร์ เพียภูเขียว ประธานคณะกรรมการคัดเลือกครูสอนดี จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การสอนอาชีพในโรงเรียนเป็นเรื่องดี เพราะหากเด็กมีงานทำก็จะไม่สร้างปัญหาในสังคม แต่การสร้างความยั่งยืนนั้นต้องเริ่มจากสังคม ปัญหาคือ แม้โรงเรียนจะสอนวิชาชีพ แต่หากเครื่องมือไม่พร้อม เด็กจะขาดการฝึกฝน และหากไม่มีการวางแผนให้นักเรียน ถึงมีอาชีพติดตัว แต่ก็ไม่มีช่องทางการต่อยอดอาชีพได้
สอดคล้องกับ ศิริ โพธินาม ตัวแทน อบจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ควรเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาเป็นแบบอาชีวศึกษา หรือแบบทวิภาคี คือ โรงเรียนในโรงงาน ซึ่งสอดคล้องว่า ทำไมเราจึงสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ โดยเน้นการเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติที่หวังให้เด็กมุ่งสู่รั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เป็น “เด็กทุกคนต้องมีอาชีพ” ซึ่งเชื่อว่า อบต.หลายพันแห่งยินดีให้ความร่วมมือด้านการศึกษา
เพราะคำตอบ การศึกษาไทย มิใช่มุ่งตรงสู่เพียง “ปริญญา” แต่ต้องช่วยแก้ปัญหา “ปากท้อง” ในชุมชน ด้วยการสร้าง “สัมมาชีพ” ให้เต็มแผ่นดิน
บรรยายใต้ภาพ