LASTEST NEWS

21 ก.พ. 2568บอร์ดกพฐ.เดินหน้าใช้หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย ปฐมวัย-ป.3 เริ่มพ.ค.นี้. 21 ก.พ. 2568สำนักงาน ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ e-Exam ประจำปี 2568 20 ก.พ. 2568เฮ! ครูจบ ป.โท บริหารการศึกษา มีสิทธิ์ปรับเงินเดือนเพิ่ม เช็กเงื่อนไขเลย! 20 ก.พ. 2568สพฐ.หวั่นครูเสียสิทธิ์ย้าย !!! สั่งเกาะติดระบบ TRS 20 ก.พ. 2568ด่วน! เลื่อนปิดเทอมเร็วขึ้น จากเดิม 11 ต.ค. เป็น 30 ก.ย. เริ่มปี 2569 – เปิดเทอม 16 พ.ค. คงเดิม 20 ก.พ. 2568สพฐ.เฝ้าดูครูยื่นย้ายผ่านระบบTRS ห่วงระบบไม่อ่านผลงาน เร่งชง ก.ค.ศ.แก้ไข หวั่นกระทบสิทธิ์ครู 20 ก.พ. 2568กรมสรรพากร เปิดสอบบรรจุรับราชการ 805 อัตรา สมัครทางอินเทอร์เน็ต 3-24 มี.ค.2568 20 ก.พ. 2568โรงเรียนวัดพานิชธรรมิการาม รับสมัครครูอัตราจ้าง 2 อัตรา วุฒิปริญญาตรี มีใบประกอบวิชาชีพ เงินเดือน 6,000 บาท 19 ก.พ. 2568เปิดรายชื่อ 17 สาขาปริญญาตรี สมัครสอบครูผู้ช่วยท้องถิ่น 2568 กลุ่มวิชาภาษาไทย 18 ก.พ. 2568เปิดตำแหน่งว่าง !! สอบครูผู้ช่วย ท้องถิ่น 2568 บรรรจุครั้งแรก 1,683 อัตรา รับสมัคร 7-28 มีนาคม 2568 นี้

"ยุบ-ไม่ยุบ"...สนองใคร?

  • 04 มิ.ย. 2556 เวลา 17:29 น.
  • 2,530
"ยุบ-ไม่ยุบ"...สนองใคร?

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

สั่นสะเทือนไปทั้งวงการหลัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ออกมาส่งสัญญาณด้วยการเปิดไฟเขียวให้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย  และช่วยประหยัดงบประมาณชาติ
 
และนั่นย่อมเปรียบเสมือนการ “เริ่มกดสัญญาณเดินเครื่องระเบิดเวลาลูกใหญ่” เพราะก่อนหน้านี้นโยบายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการเคยถูกต่อต้านจากภาคสังคมมาแล้ว โดยเฉพาะสภาการศึกษาทางเลือกและบรรดาเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ถึงขนาดเคยยกม็อบบุกมาคัดค้านถึงรั้ววังจันทรเกษม จนรัฐมนตรีในสมัยนั้นต้องสั่งชะลอออกไป และที่ผ่านมาก็ไม่มีใครกล้าที่จะแตะเรื่องนี้
 
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อทันทีที่ นายพงศ์เทพ ประกาศให้เดินหน้ายุบโรงเรียนขนาดเล็ก จะก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านในสังคมเป็นวงกว้าง และกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ที่ลุกลามใหญ่โต จนเจ้ากระทรวงต้องออกเดินสายชี้แจงทั้งทางสื่อ รวมถึงเปิดเวทีประชาคมทุกภาคทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจ
 
 
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน  หรือ  สพฐ. ภายใต้การบริหารของ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รับลูกด้วยการสั่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทำการสำรวจโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในข่ายจะถูกยุบ และให้จัดทำแผนบริหารจัดการเสนอมาท่ามกลางการจับตาของสังคม
 
ล่าสุด แผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ได้คลอดออกมาแล้ว โดย สพฐ. ได้ทำการประมวลภาพรวมจากข้อมูลที่ทาง  สพป. 182 เขตทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานครเสนอมาก่อนที่จะกางแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก “ทีมการศึกษา” ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า โดยปกติโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. หมายถึงโรงเรียนที่มีขนาดจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมา ในจำนวนนี้มีอยู่  14,816  แห่ง จากโรงเรียนทั้งสิ้นกว่า  30,000 โรง ซึ่งเป็นที่มาของกระแสข่าวสั่งยุบโรงเรียนขนาดเล็กหมื่นกว่าโรง แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในแผนการบริหารจัดการ ที่ สพฐ.ชี้เป้าว่าจะยุบรวม หมายถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนลงมาเท่านั้น
 
ซึ่งเมื่อกางแผนบริหารจัดการฯ ออกมาจะพบว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในข่ายดังกล่าว จำนวน  5,949 แห่ง ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งมีการบริหารจัดการที่หลากหลาย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
 
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีการบริหารแบบเป็นเครือข่าย โดยได้มีการเคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนหลัก จำนวน 2,686 แห่ง กลุ่มต่อมาเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ยังจัดการเรียนการสอนในที่ตั้ง ยังไม่ได้ทำการเคลื่อนย้ายนักเรียน จำนวน 2,891 แห่ง ซึ่งกลุ่มนี้มีการระบุว่าเป็นกลุ่มที่เขตพื้นที่การศึกษาต้องกำกับดูแลในเรื่องของคุณภาพ
 
 
พร้อมทั้งต้องจัด “ประชาคม” เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการร่วมกับชุมชนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ อาทิ อยู่บนพื้นที่สูง บนเกาะ พื้นที่ห่างไกล และชายแดน จำนวน 372 แห่ง ซึ่งโรงเรียนในกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายนักเรียนได้ ที่น่าสนใจคือ ในแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กยังระบุข้อมูลอีกว่า มีจำนวนโรงเรียน 118 แห่งจาก 5,949 แห่ง ไม่มีนักเรียนเรียนอยู่เลย
 
แต่ สพฐ.ก็ระบุในแผนว่า แม้จะไม่มีเด็กนักเรียนเป็น “ตัวป้อน” แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็จะยังไม่มีการ “ยุบ” หรือ “เลิก” ในทันที เพราะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม เลิก สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งจะต้องมีการบูรณาการร่วมกับท้องถิ่นเพื่อสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในอาคารสถานที่ดังกล่าว


 
พร้อมกันนี้ได้มีการตั้ง คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนชุมชน เพื่อเปิดทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ตามข้อเสนอของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน
 
แม้ขณะนี้แผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. ได้ส่งตรงถึงมือของ 2 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการ “ฟันธง” ว่าในปีนี้จะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กหรือไม่ และจะยุบจำนวนเท่าไหร่ เพราะมีการระบุชัดว่าจะต้องมีการเปิดเวทีประชาคมให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสิน และต้องมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการภาคีเครือข่ายเพื่อหาคำตอบอีกครั้ง

 
“ทีมข่าวการศึกษา” เห็นด้วยกับแนวทางที่ภาครัฐป่าวประกาศและดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นการเดินมาถูกทางแล้ว เพราะหมดยุคสมัยที่ราชการจะเป็นผู้ “ชี้เป็น–ชี้ตาย” ว่าโรงเรียนไหนจะ “คงอยู่” หรือสมควร “ถูกยุบ” แต่ควรจะเป็นการบริหารจัดการแบบมีส่วนรวมจากทุกภาคส่วน เพราะการศึกษาไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคม
 
ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ การต้องรับฟังเสียงประชาคมของชุมชน ในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ย่อมรู้ความต้องการดีที่สุด
 
ขณะเดียวกันเราก็ต้องขอสะกิดชุมชนและคนไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติ ชุมชนเองต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยที่จะต้อง “แสดงพลัง” และเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันรักษาโรงเรียนของลูกหลานให้คงอยู่คู่กับชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยอย่างแท้จริง
 
เพราะคำตอบสุดท้าย “ยุบไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” น่าจะต้องสนองผลประโยชน์ที่จะตกแก่เด็กและประเทศชาติเป็นหลัก!!!
 
ทีมข่าวการศึกษา
 
 
  • 04 มิ.ย. 2556 เวลา 17:29 น.
  • 2,530

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : "ยุบ-ไม่ยุบ"...สนองใคร?

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^