LASTEST NEWS

27 พ.ย. 2567สพฐ.มีหนังสือ ด่วนที่สุด! ให้นำแนวทาง PISA มาใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการสรรหาบุคลากร ทุกตำแหน่ง 27 พ.ย. 2567บอร์ดก.ค.ศ.เคาะร่างแนวปฏิบัติการย้ายครู ผ่านระบบ TRS เตรียมเปิดใช้งาน มกราคม 2568 27 พ.ย. 2567โรงเรียนแคมป์สนวิทยาคม รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาเอกภาษาจีน เงินเดือน 12,000.-บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 1 ธันวาคม 2567 27 พ.ย. 2567ด่วนที่สุด!! ที่ ศธ 04009/ว7543 เรื่อง การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 27 พ.ย. 2567สพฐ. กำชับเขตพื้นที่เร่งคลายทุกข์ลูกจ้าง เดินหน้าพาเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา พร้อมจัดงบประมาณแนวใหม่ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” 26 พ.ย. 2567สพฐ. เข้ม สั่งครูล่วงละเมิดนักเรียนออกจากราชการทันที ย้ำดูแลสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ 26 พ.ย. 2567สพฐ.เล็งทำบัตรสุขภาพนักเรียนออนไลน์ 26 พ.ย. 2567ทำไมครูส่วนใหญ่ ไม่สนใจสมัครสอบเป็นศึกษานิเทศก์ 26 พ.ย. 2567ก.พ.ยังนิ่งปมทบทวนจ้างเหมาบริการ “ธนุ” ไม่รอแล้วสั่งทำสัญญาจ่ายเงิน ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง 25 พ.ย. 2567ล 1932/2567 หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และที่แก้ไขเพิ่มเติม

เส้นทางชีวิตของเด็กไทย ใครจะช่วยพาไปถึงฝั่งฝัน

  • 13 เม.ย. 2556 เวลา 07:42 น.
  • 1,897
เส้นทางชีวิตของเด็กไทย ใครจะช่วยพาไปถึงฝั่งฝัน

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

“ในจำนวนเด็ก 10 คน มีเด็ก 6 คน ที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบเพียงชั้น ม.6 หรือ ปวช. ส่วนที่เหลืออีก 4 คนที่เข้าสู่รั้วอุดมศึกษา มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จบแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก!!...วัยรุ่นเหล่านี้เมื่อออกจากรั้วโรงเรียนก็จะต้องกลายเป็น “ผู้ใหญ่” โดยฉับพลัน พวกเขาต้องผจญชีวิตจริง ต้องพึ่งตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว และที่สำคัญคือ “ต้องมีงานทำ” คำถามตัวโตก็คือในช่วงเวลา 12-15 ปีที่อยู่ในโรงเรียนเขาได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อผจญชีวิตจริงเพียงไร?”
 
ข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงศึกษาธิการจะต้องขบคิดอย่างหนัก ซึ่งนโยบายปฏิรูปหลักสูตร และปรับกระบวนการเรียนการสอน เพื่อยกเครื่องการเรียนรู้ของเด็กไทยใหม่
 
นับเป็นนโยบายที่ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งธงเอาไว้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาแทนที่จะเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง เพราะเชื่อว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างอาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กเสมอไป รวมทั้งการปรับสัดส่วนนักเรียนสายอาชีวะ (วิชาชีพ) กับสายสามัญ จากเดิม 35 ต่อ 65 เป็น 50 ต่อ 50 ก็เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ
 
มาดูรายละเอียดของตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับการจัดการเรียนการสอน กับสภาพชีวิตจริงของเด็กไทย จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)โดย ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิชาการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ สสค. ที่ได้วิเคราะห์ถึงเส้นทางชีวิตของเด็กไทยพบว่า แต่ละปีมีเด็กเกิดเฉลี่ย 8 แสนคน ถ้าลองเปรียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่าหากประเทศไทยมีเด็ก 10 คนในแต่ละรุ่นที่เกิดปีเดียวกัน เด็กสิบคนนี้จะมีเส้นทางการเดินทางตามระบบการศึกษาไทยโดยเดินไปบนเส้นทางได้ใกล้ไกลแตกต่างกัน
 
ในจำนวนเด็ก 10 คน จะมีเด็ก 1 คน (หรือร้อยละ 13) เรียนไม่จบ ม.3 (ไม่จบแม้แต่การศึกษาภาคบังคับ) เด็ก 3 คน (ร้อยละ 30) ได้เรียนจนจบ ม.3 แล้วเลิกเรียน เด็ก 2 คน (ร้อยละ 21) เรียนจนจบ ม.6/ปวช. แล้วไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษา เหลือเพียงเด็ก 4 คน (ร้อยละ 36) เรียนต่อขั้นอุดมศึกษา
 
ดูเผิน ๆ เด็ก 4 คนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยน่าจะมีโอกาสที่ดีกว่ามาก แต่กลับพบสถิติว่าใน 4 คนนี้มีเพียง 3 คนที่เรียนได้จนจบอุดมศึกษา ยิ่งกว่านั้นใน 3 คนที่ใช้เวลาเพิ่มอีก 4-8 ปีนั้น มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ได้งานทำในปีแรกหลังจากจบปริญญา ส่วนที่เหลือ 2 คนจบแล้วต้องว่างงานใน 1 ปีแรก
 
จะเห็นได้ว่า เด็ก 10 คน มีเด็กมากถึง 6 คนที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบเพียงชั้นม.6 หรือปวช. ส่วนที่เหลืออีก 4 คนที่เข้าสู่รั้วอุดมศึกษา กลับพบว่า มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จบแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก!!
 
คำถามที่ตามมาคือ เด็ก 6-7 คน ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่อายุเพียง 15-19 ปีแล้วไปไหน?
 
จากผลการสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2553 ซึ่งมีความละเอียดกว่าการสุ่มตัวอย่างเพราะต้องเดินเข้าไปถามทุกบ้านนั้น รายงานผลลัพธ์ออกมาสอดคล้องกับข้อมูลที่วิเคราะห์ข้างต้นคือประชากรอายุ 15-19 ปี ซึ่งเยาวชนวัยนี้หากอยู่ในระบบก็จะอยู่ระดับมัธยมปลาย ปวช. หรือเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงกลุ่มนี้มากถึง 1.2 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 (ร้อยละ 26) ต้องออกมาทำงานแล้ว โดยมีอาชีพต่าง ๆ ได้ แก่ 1. การเกษตร ป่าไม้ ประมง (41%) 2. งานพื้นฐานเช่น แผงลอย ทำความสะอาด ซักรีด ส่งของ เป็นต้น (17%) 3. พนักงานบริการ/ขาย/เสมียน (15%) 4. วิชาชีพ ข้าราชการ ช่างฝีมือ/เทคนิค (14%) และ 5. ควบคุมเครื่องจักร (7%)
 
ในขณะที่เยาวชนอายุ 20-24 ปี ซึ่งหากอยู่ในระบบก็จะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพชั้นสูง แต่ผลการสำมะโนประชากรพบว่ากลุ่มนี้ออกมาทำงานจำนวน 2.8 ล้านคน (ร้อยละ 61) ไม่ทำงานจำนวน 1.7 ล้านคน (ร้อยละ 36) ตัวเลขนี้จึงตรงกับตัวเลขเปรียบเทียบเด็กสิบคนข้างต้นว่ามีเพียง 4 ใน 10 คนเท่านั้นที่เรียนต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ที่ออกมาทำงานมีอาชีพ ได้แก่ 1) การเกษตร ป่าไม้ ประมง (27%) 2) พนักงานบริการ/ขาย/เสมียน (20%) 3) วิชาชีพ ข้าราชการ ช่างฝีมือ/เทคนิค (18%) 4) อาชีพงานพื้นฐาน เช่น แผงลอย ทำความสะอาด ซักรีด ส่งของ เป็นต้น (14%)  และ 5) ควบคุมเครื่องจักร (11%)
 
บางท่านเห็นสถิตินี้แล้วอาจรีบเสนอทางออกให้เพิ่มที่นั่งในมหาวิทยาลัยแต่ข้อเท็จจริงนั้นอัตราการเข้าเรียนอุดมศึกษาของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเรียนต่ออุดมศึกษาไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ เลย โดยประเทศไทยอยู่ที่ 36% สิงคโปร์ 34% มาเลเซีย 28% ฟิลิปปินส์ 31% และญี่ปุ่น 48% และไม่มีประเทศใดในโลกที่พยายามให้เด็กของตนเข้าเรียนอุดมศึกษาทั้งหมด 100%
 
ระบบการศึกษาพื้นฐานได้จับเด็กเยาวชนเข้ามาอยู่ในโรงเรียนยาวนาน 12-15 ปี แต่เด็กทุกรุ่นเมื่ออายุ 18 ปี กลับพบว่ามีจำนวนมากถึง 6 ใน 10 คนออกจากระบบการศึกษา และเมื่อออกจากรั้วโรงเรียนก็จะต้องกลายเป็น “ผู้ใหญ่” โดยฉับพลัน ทำให้พวกเขาต้องผจญชีวิตจริง ต้องพึ่งตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว และที่สำคัญคือ “ต้องมีงานทำ” คำถามตัวโตก็คือในช่วงเวลา 12-15 ปีนั้นโรงเรียนได้เตรียมให้เด็กพร้อมกับการผจญชีวิตจริงเพียงไร?
 
บนเส้นทางการศึกษานั้นไม่ว่าเด็กจะใช้เวลาเพียง 12 ปี 15 ปี 19-20 ปี หรือเท่าใดก็ตาม แต่สิ่งที่เขาควรจะได้รับเท่าเทียมกันน่าจะเป็นความพร้อม รวมถึงทักษะจำเป็นที่เขาจะต้องใช้สำหรับการสู้ชีวิต มีอาชีพ พัฒนาตนเอง และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทย หากประกอบกับโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในวัยทำงานด้วยก็ย่อมจะพิสูจน์ถึงการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจริง มิใช่เพียงการศึกษาเพื่อศึกษาหรือใบปริญญาเท่านั้น
 
ล่าสุด สสค. ได้ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรที่มี ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีการประชุมทุกวันเสาร์ เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถตอบโจทย์เส้นทางชีวิตของเด็กไทยได้อย่างแท้จริง.
 
ภมรศรี แดงชัย
 
 
  • 13 เม.ย. 2556 เวลา 07:42 น.
  • 1,897

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : เส้นทางชีวิตของเด็กไทย ใครจะช่วยพาไปถึงฝั่งฝัน

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^