"เสมา1" ยืนยันการสอบโอเน็ตมีความจำเป็นแต่ไม่บังคับ "ธนุ" ขานรับไปดำเนินการ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"เสมา1" ยืนยันการสอบโอเน็ตมีความจำเป็นแต่ไม่บังคับ "ธนุ" ขานรับไปดำเนินการที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ที่มี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธาน โดยมี พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ หารือถึงกรอบแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ไปพิจารณาหาแนวทางจูงใจให้นักเรียนเข้าร่วมการทดสอบโอเน็ตให้มากขึ้น แต่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะแนวทาง กันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือมีมติใดๆ
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ได้มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ไปหาวิธีการจูงใจให้เห็นประโยชน์ของการสอบโอเน็ต ซึ่งเปรียบเสมือนการส่องกระจกเงาให้เห็นว่าเป็นอย่างไร ไม่เรียบร้อยตรงไหนซึ่งถ้าเรียบร้อยแล้วก็จบ แต่ถ้าไม่เรียบร้อยก็จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะการทดสอบโอเน็ตถือเป็นมาตรฐานของประเทศ ที่จะมาวัดว่า เด็กอ่อนวิชาไหนจะได้มาจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้ แต่หากผลออกมาไม่ดีทั้งโรงเรียนก็จะเป็นตัวชี้วัดผู้สอนได้ ซึ่งก็อาจต้องไปเพิ่มศักยภาพที่ตัวผู้สอน อย่างไรก็ตามอยากให้เด็กเข้ามาสอบโอเน็ตให้มาก ๆ เพื่อจะได้รู้ว่า เด็กคนนั้นหรือโรงเรียนได้มาตรฐานหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะให้นำไปใช้หรือไม่ต้องปล่อยให้เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพที่โรงเรียนจะนำไปใช้หรือไม่ก็ได้เพียงแต่อยากพยายามชักจูงให้น้อง ๆ เข้ามาสู่กระบวนการวัดที่ได้มาตรฐานเพื่อจะได้รู้ว่าที่เรียนมา อ่อนหรือเก่งวิชาไหน ได้มาตรฐานของชาติหรือยัง
“ถ้าพยายามชักชวนถึงที่สุดแล้ว เด็กยังไม่อยากสอบก็ไม่เป็นไร เพราะผมได้ให้หน่วยงานต้นสังกัดไปดูแล้วว่าจะเข้าไปจัดการทดสอบเอง หรืออาจจะให้โรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่าเข้าไปประเมินก็ได้ โดยเหตุผลหลักประการหนึ่งที่อยากให้สมัครเข้ามาทดสอบโอเน็ตกันเยอะๆ เพราะเราต้องการเตรียมตัวเด็กให้พร้อมสำหรับรับการประเมินนานาชาติ หรือ PISA เนื่องจากคะแนน PISA จะเป็นตัวที่ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเราได้ ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนว่า ตรงไหนอ่อนจะได้ไปปรับปรุงเพิ่มศักยภาพ หรือถ้าผ่านแล้ว เก่งแล้วก็ต้องพัฒนาให้เก่งมากขึ้นเช่นกัน
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เด็กนักเรียน สพฐ. ไม่ได้สอบเฉพาะโอเน็ต แต่ยังมีการทดสอบด้านการอ่าน หรือ RT การทดสอบความสามาถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ หรือ NT ซึ่งเป็นการสอบคนละกลุ่มเป้าหมายและคนละวัตถุประสงค์ แต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงต้องจัดทดสอบมากมาย และผลของการประเมินที่ออกมาก็นำไปใช้บ้างไม่ใช้บ้าง จนสมัยหนึ่งได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการสอบโอเน็ต แต่มายุคนี้ รมว.ศึกษาธิการมองว่าถ้าไม่จัดทดสอบโอเน็ตแล้วจะนำอะไรมาเป็นตัววัดคุณภาพการศึกษา เพียงแต่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เนื่องจากการทดสอบโอเน็ตต้องเชื่อมโยงกับการสอบPISA เพราะการสอบ PISA คือการวัดความฉลาดรู้จนเป็นที่มาของนโยบายจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายให้นักเรียนฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ กระทั่งต้องมีการพัฒนาห้องเรียนแล้ววัดว่า เด็กมีความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ด้วยข้อสอบโอเน็ต
“จริงๆ เรื่องการทดสอบไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะการสอนกับการสอบต้องเป็นของคู่กัน เรียกว่าสอนเพื่อสอบ สอบเพื่อสอน การจะพัฒนาการสอนได้ก็ต้องดูที่ผลการสอบก่อน แต่วันนี้โอเน็ตเป็นการวัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติและไม่ได้สอบเฉพาะสพฐ.เพราะอาชีวะก็มีสอบวีเน็ต การศึกษานอกระบบก็สอบเอ็นเน็ต อิสลามก็มีสอบไอเน็ต ซึ่งล้วนแต่เป็นการวัดคุณภาพการศึกษาของชาติทั้งนั้น”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า สพฐ.จะต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อสร้างความเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของการสอบโอเน็ตคืออะไร ต้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะตัวเด็ก รวมทั้งผู้ปกครอง และครู เข้าใจว่าเป็นการทดสอบที่มีวัตถุประสงค์อะไร เพื่อเอาผลสอบไปปรับปรุงการเรียนการสอน ซึ่งจะไปประเมินว่าเด็กอ่อนอะไร เก่งอะไร จะส่งเสริมอย่างไร จะพัฒนาเด็กเรื่องอะไรต้องให้ผู้ปกครองและทุกฝ่ายเข้าใจว่า การสอบเป็นการทำให้ลูกหลานได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าชาวบ้านรู้ว่าการสอบโอเน็ตจะเป็นมิติหนึ่งในการช่วยพัฒนาเด็กหรือแก้ไขจุดอ่อนเพื่อการเรียนการสอนไม่ใช่เพื่อการแข่งขันก็จะไม่ต่อต้านแน่นอน อย่างไรก็ตามหากจะมีการนำไปใช้เพื่อการสอบเข้าเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่าสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนโดยอาจจะเริ่มต้นจาก 10% ก่อนแล้วค่อยขยายเพิ่มในปีถัดไป จะเปลี่ยนแบบหน้ามือหลังมือไม่ได้ ต้องค่อยค่อยขยับปรับเปลี่ยนไป แต่ก่อนอื่นก็ต้องต้องสร้างการรับรู้ให้ครูนักเรียนและผู้ปกครองให้ได้ก่อน
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: Focus News วันที่ 18 มกราคม 2568