สพฐ.เสนอ กพฐ.แก้ไขระเบียบปิด-เปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 เลื่อนวันปิดภาคเรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.เสนอ กพฐ.แก้ไขระเบียบปิด-เปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 เลื่อนวันปิดภาคเรียนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ น่านกรีนเลควิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน ได้มีการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่(กพฐ.สัญจร)ซึ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมด้วย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธาน ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ได้เสนอผลสรุปการสำรวจความคิดเห็นการพิจารณาแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การแก้ไขวันเปิดและปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พฤษภาคม -11 ตุลาคม เป็น วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน -1 เมษายน ซึ่งจาก การสำรวจความเห็น ในประเด็นนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 47,467 คน ซึ่งมีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ฯลฯ พบว่า เห็นด้วย 80.30% ไม่เห็นด้วย 16.91% และอื่นๆ 0.79%
โดยมีข้อเสนอแนะกรณีเห็นด้วย คือ
1. เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการภายในสถานศึกษาเนื่องจากสอดคล้องกับปีงบประมาณ สะดวกต่อการบริหารจัดการด้านการเบิกจ่ายอาหารกลางวันอาหารเสริม (นม) และการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ
2. เป็นประโยชนให้กับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 – 15 พฤษภาคม สามารถเข้าเรียนได้เลย ไม่ต้องรอเข้าเรียนในปีการศึกษาถัดไป
3. เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารอัตรากำลัง เนื่องจากการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนซึ่งแต่เดิมกำหนดปิดภาคเรียนในวันที่ 11 ตุลาคมส่งผลต่อการบริหารจัดการด้านอัตรากำลัง
4. เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา
5. เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 มีโอกาสแก้ผลการเรียนได้จบทันปีการศึกษา การเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พ.ค. ทำให้นักเรียนที่มาแก้ผลการเรียนดำเนินการได้สะดวกกว่าการที่โรงเรียนเปิดวันที่ 16 พ.ค. อีกทั้งยังลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จบการศึกษาเพิ่มขึ้น และได้ใช้วุฒิการศึกษาไปทำงานหรือเรียนต่อได้ทันปีการศึกษาถัดไป เพราะหากนักเรียนแก้ผลการเรียนไม่ทันก่อนวันที่ 16 พ.ค. นักเรียนจะจบในปีการศึกษาถัดไป และต้องรออีก 1 ปี ถึงจะสามารถเรียนต่อได้
ส่วนข้อเสนอแนะ กรณีไม่เห็นด้วย
1. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีสภาพอากาศร้อนไม่เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมหรือการจัดการเรียนการสอน
2. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน (วันแรงงาน วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา) ส่งผลให้ต้องหยุดเรียนหลายวัน
3. การปรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียนเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ส่งผลประโยชน์ต่อผู้เรียน
4. การเปิดและปิดภาคเรียนแบบเดิมมีความเหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่น ๆ เช่น 1. ควรนับวันครบอายุเข้าเรียนตามปี พ.ศ. เพื่อให้เข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาได้อย่างเหมาะสม 2.ควรกำหนดกรอบระยะเวลาเปิดภาคเรียนแบบยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษาบริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขระเบียบอื่นได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียน ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยประธานที่ประชุมมอบหมายให้ สพฐ. ไปดำเนินการ ให้มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและส่วนราชการอื่น ๆ รวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะจะส่งผลกระทบจากการปรับวันเปิด-ปิด ภาคเรียนด้วย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: Focus News วันที่ 18 มกราคม 2568