“ธนุ” เล็งให้ ผอ.โรงเรียน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างแทนครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“ธนุ” เล็งให้ ผอ.โรงเรียน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างแทนครูเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยังคงขับเคลื่อนนโยบายเดิม คือ เรียนดี มีความสุข ลดภาระครู ลดภาระผู้ปกครอง แต่จะเน้นที่เป้าหมายซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำให้มากขึ้น คือ ให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ โดยตนได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ของ สพฐ. และได้ตีโจทย์ออกมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ และได้ทำแผนปฏิบัติโดยเน้นลดภาระครูที่ตนให้ความสำคัญมาก
“ปีนี้ สพฐ.ได้ออกแบบการลดภาระครู โดยเชิญครูจากพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ ครูที่อยู่บนดอย ครูที่อยู่พื้นที่ห่างไกล มาหารือ ว่า มีภาระอะไรบ้างที่นอกเหนือจากการสอน อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ช่วยลดภาระอะไร เพาะเราอยากลดภาระครูให้มากที่สุด เพื่อให้ครูได้สอนจริง ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาครูมีภาระเยอะมาก ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็พยายามช่วยลดไปแล้ว ทั้งเรื่องการอยู่เวร การจัดหาภารโรงไปช่วย แต่ครูก็ยังมีภาระมากอยู่ เราก็พยายามจะลดภาระให้อีก”เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า เท่าที่สอบถามสิ่งที่ครูกังวลมาก คือ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะครูไม่มีความรู้ ทั้งเรื่องบัญชี เรื่องงานพัสดุ เขาไม่เคยเรียน ไม่เคยทำ เราก็กำลังหาวิธีการว่าจะให้เขตพื้นที่การศึกษาช่วยได้อย่างไร ซึ่งตนก็มีแนวคิดว่าจะพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนมาทำหน้าที่นี้แทนเลย ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องช่วยครู ไม่ใช่ปล่อยให้ครูมีความทุกข์ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องความเสี่ยง ระเบียบ กฎหมาย ซึ่งตอนนี้ สพฐ.ก็กำลังศึกษาหาแนวทางอยู่
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีนักเรียนหญิงโรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม จ.ภูเก็ต เข้าช่วยเหลือทีมกู้ชีพ ช่วยปั๊มหัวใจลุงขับซาเล้งที่เป็นลมหัวใจหยุดเต้นกลางถนน จนฟื้นคืนชีพ ซึ่งทราบว่าเด็กเคยเข้าอบรมการทำ CPR จากโครงการที่ อบจ.ภูเก็ตจัดขี้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งมีเสียงเรียกร้องว่าควรมีการจัดอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุฉุกเฉินเบื้องต้น และ การอบรม CPR ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ นั้น จริง ๆ แล้ววิชาสุขศึกษามีหลักสูตรอยู่แล้ว และเราก็เคยทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โครงการอบรมจิตอาสาช่วยชีวิตคน มาแล้วเช่นกัน เพียงแต่โรงเรียนอาจจะไม่ได้อบรมหรือมีการฝึกอย่างเข้มข้น ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ความรู้และการฝึกอบรมนี้เป็นสิ่งที่จะติดตัวเด็กและสามารถนำมาใช้ได้จริงเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นเมื่อมีเสียงเรียกร้องมาก็จะสั่งการให้เขตพื้นที่และสถานศึกษาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กโตซึ่งจะมีโอกาสไปช่วยเหลือคนได้มาก ถือเป็นเรื่องที่ดี ประชาชน พ่อแม่ พี่น้อง เห็นความสำคัญที่เรียกร้องให้ สพฐ.ให้ความสำคัญ ขอให้เพิ่มความเข้มข้นการอบรมนักเรียน เพื่อให้เด็กจะได้มีโอกาสไปช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น ซึ่งตนก็พร้อมจะไปดำเนินการ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: Focus News วันที่ 7 มกราคม 2568