ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับระบบการย้ายข้าราชการครู (Teacher Rotation System : TRS)
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับระบบการย้ายข้าราชการครู (Teacher Rotation System : TRS)1. ระบบ TRS คืออะไร ?
ระบบ TRS หรือ Teacher Rotation System คือ ระบบการย้ายข้าราชการครูผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้สำหรับการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ให้ดำรงตำแหน่งเดิมในสถานศึกษา สังกัดส่วนราชการเดิม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งผ่าน จัดการและประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ในการพิจารณาย้ายผู้ดำรงตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกับข้อมูลระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (HRMS) ระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) และระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) เพื่อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน โดยคำนึงถึงข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดย การย้ายทุกกรณีให้ดำเนินการผ่านระบบ TRS เท่านั้น
2. ผู้ใช้งานระบบ TRS มีใครบ้าง ?
2.1 ข้าราชการครูผู้ประสงค์ยื่นคำร้องขอย้าย
2.2 ผู้อำนวยการสถานศึกษา
2.3 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษและส่วนราชการอื่น
2.4. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษและหัวหน้าส่วนราชการอื่น
ทุก User สามารถเข้าสู่ระบบ TRS ได้ทางเว็บไซต์ https://trs.otepc.go.th ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานจากคอมพิวเตอร์พีซี หรือโน้ตบุ๊ก ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์พกพาไร้สาย เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น
3. สามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้เมื่อไหร่ ?
การยื่นคำร้องขอย้ายผู้ขอย้ายสามารถยื่นผ่านระบบ TRS ได้ปีละ 2 ครั้ง ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยลงทะเบียนและยื่นคำร้องขอย้าย ผ่านระบบ TRS ซึ่งการย้ายทุกกรณีผู้ขอย้ายต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและเงื่อนไขครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 6/2567 และไม่ติดเงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้งอื่นใด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. หรือหน่วยงานอื่นกำหนด
4. ระบบ TRS จะการประมวลผลการย้ายฯ อย่างไร ?
การประมวลผลการย้าย ฯ จะดำเนินการเฉพาะการย้ายกรณีปกติเท่านั้น โดยระบบ TRS จะประมวลผลตามองค์ประกอบ ตัวชี้วัด และจัดเรียงผลคะแนนตามลำดับ และเงื่อนไขกรณีได้คะแนนเท่ากัน ที่กำหนดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 6/2567 แล้วจะแสดงผลตามวันที่ ก.ค.ศ. กำหนดในปฏิทินการย้ายแนบท้ายแนวปฏิบัติ เพื่อให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี พิจารณาย้ายผู้ที่ได้คะแนนและอันดับที่ดีที่สุดในกลุ่มสาขา หรือทาง หรือสาขาวิชาในสถานศึกษานั้น โดยต้องคำนึงถึงลำดับสถานศึกษาที่ผู้ขอย้ายแสดงความประสงค์ขอย้ายด้วย หากมีความเห็นต่างจากการประมวลผลของระบบ TRS ต้องระบุเหตุผลให้ชัดเจน
5. การย้ายกรณีอื่น ๆ ทำอย่างไร ?
การย้ายกรณีพิเศษ ให้ผู้ขอย้ายยื่นคำร้องขอย้ายผ่านระบบ TRS และให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา ตรวจสอบคุณสมบัติ และความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสารหลักฐาน พร้อมแนบความเห็น ของคณะกรรมการสถานศึกษา แล้วส่งผ่านข้อมูลไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือส่วนราชการอื่น แล้วแต่กรณี ผ่านระบบ TRS เพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี พิจารณา
การย้ายกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการย้ายกรณีพิเศษ แล้วเสนอ อ.ก.ค.ศ.ฯ พิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 6/2567 ต่อไป โดยอาจพิจารณาจากคำร้องขอย้ายหรือไม่ก็ได้
6. การแจ้งผลการพิจาราณาย้าย
การย้ายทุกกรณี เมื่อผลการพิจารณาเป็นประการใด ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบันทึกมติ อ.ก.ค.ศ.ฯ เพื่อให้ระบบ TRS แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอย้ายทราบผ่านอีเมลต่อไป
7. อัตรากำลัง
การย้ายทุกกรณี สถานศึกษาที่รับย้ายต้องมีอัตรากำลังสายงานการสอนในภาพรวมไม่เกินเกณฑ์อัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด และเป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงื่อนไขในการใช้ตำแหน่ง สำหรับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาที่รับย้ายต้องมีจำนวนตำแหน่งในสายงานการสอนในวิชาเอกไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดด้วย
กลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: สำนักงาน ก.ค.ศ.