สพฐ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โครงการโรงเรียนสุจริต” ระดับประเทศ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โครงการโรงเรียนสุจริต” ระดับประเทศ.
วันที่ 7 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน การประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับประเทศและกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธันวาคม) ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร โดยมี นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวรายงาน และโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) นายอุทิศ บัวศรี อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นางสมพร สมผดุง ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมกิจกรรมในพิธี
.
นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคต สพฐ. ในฐานะที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศได้บูรณาการความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการด้านการป้องกันการทุจริตของหน่วยงานในสังกัด จึงได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสำหรับใช้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรการทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาโดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการกระทำทุจริตในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต โดยหลักสูตรต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น จะมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่กำหนดเป้าหมายหลัก ให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบผ่านการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ โดยให้ความสำคัญกับการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคม ให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติรวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต)
.
“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากเวทีแห่งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนไปสู่การขับเคลื่อนโครงการที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในอนาคต คือ การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
สำหรับกิจกรรมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ โดยภายในงานแบ่งเป็นกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์ (On Site) และ กิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ (Online) รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต แสดงผลการดำเนินงาน และภาพความสำเร็จของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online) นิทรรศการให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมรับการประเมิน ITA Online ระดับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online Clinic) เป็นต้น
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจประชาสัมพันธ์ สพฐ. วันที่ 7 ธันวาคม 2567