สพฐ. แจงศิลปหัตถกรรมนักเรียน แยกการแข่งวิชาการ ลดภาระครู-นักเรียน ไม่ซ้ำซ้อน .
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ. แจงศิลปหัตถกรรมนักเรียน แยกการแข่งวิชาการ ลดภาระครู-นักเรียน ไม่ซ้ำซ้อนวันที่ 19 กันยายน 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งหลังจากมีประกาศกำหนดการจัดงานออกมา ได้มีเสียงสะท้อนบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดการแข่งขันด้านวิชาการออก เพราะนักเรียนและครูได้เตรียมตัวสำหรับการแข่งขันแล้ว และจะมีผลต่อการจัดทำผลงานประกอบการเข้าศึกษาต่อของนักเรียน นั้น
นายธีร์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอชี้แจงว่า การจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ประจำปี พ.ศ. 2567 นี้ จัดขึ้นโดยคำนึงถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบกับได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน ครูและบุคลากรฯ เจ้าหน้าที่ ในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดงานในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเพื่อให้การจัดกิจกรรมการแข่งขันด้านวิชาการ มุ่งผลสัมฤทธิ์ได้อย่างตรงจุด ไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับการแข่งขันของหน่วยงานอื่น สพฐ. จึงมอบหมายให้สำนักที่เกี่ยวข้อง พิจารณาคัดเลือกกิจกรรมด้านวิชาการให้สำนักที่รับผิดชอบนำไปดำเนินการจัดการแข่งขัน และให้คงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะไว้ในการจัดการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ดังนั้น นักเรียนและครูที่ได้เตรียมตัวสำหรับการแข่งขันจะมีเวทีได้แสดงออกถึงทักษะและความสามารถของตนเองอย่างแน่นอน
โดยกิจกรรมการแข่งขันด้านวิชาการที่จะดำเนินการโดยสำนักต่าง ๆ ใน สพฐ. ประกอบด้วย 7 ประเภท ได้แก่ 1. ภาษาไทย รับผิดชอบโดย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา 2. คณิตศาสตร์ รับผิดชอบโดย 1)สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา 2)สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา 3)ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ 3. วิทยาศาสตร์ รับผิดชอบโดย 1)สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา 2)สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา 4. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รับผิดชอบโดย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา 5. ภาษาต่างประเทศ (เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน สเปน รัสเซีย เมียนมา เขมร มลายู เวียดนาม) รับผิดชอบโดย ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ 6. หุ่นยนต์ รับผิดชอบโดย สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ 7. นักบินน้อย สพฐ. รับผิดชอบโดย สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
“สพฐ. เข้าใจดีถึงความตั้งใจของนักเรียนและครู ที่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเราไม่ได้ละเลยกิจกรรมการแข่งขันด้านวิชาการ เพียงแต่ปีนี้การแข่งขันด้านวิชาการจะดำเนินการโดยสำนักที่รับผิดชอบโดยตรง ขอให้มั่นใจว่าจะมีเวทีให้แสดงออกถึงทักษะและความสามารถของน้องๆอย่างแน่นอน รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ สพฐ. วันที่ 19 กันยายน 2567