“เพิ่มพูน” ห่วงเด็กเล็กติดจอ !!! มอบ ศธ.หาวิธีลดใช้มือถือ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“เพิ่มพูน” ห่วงเด็กเล็กติดจอ !!! มอบ ศธ.หาวิธีลดใช้มือถือพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคนจนเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง คือ พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ของเด็กเล็กที่ติดหน้าจอมากจนเกินไป ส่งผลต่อพัฒนาการหลายด้าน ทั้งนี้ ข้อมูลจากทั่วโลกเริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการใช้จอดิจิทัลในวัยเด็กเล็ก จนทำให้หลายประเทศต้องเริ่มร่างกฎหมายหรือกำหนดนโยบายเพื่อจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เช่น ฝรั่งเศส ออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนสำหรับนักเรียนอายุไม่เกิน 15 ปี ตั้งแต่ปี 2018 เพื่อช่วยลดการรบกวนในชั้นเรียน ขณะที่เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ก็เริ่มใช้มาตรการคล้ายกันในปี 2024 โดยจำกัดหรือห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไปในเด็กเล็ก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยพบว่าเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน มีค่าเฉลี่ย IQ ต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอน้อยกว่าอย่างมาก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสมาธิสั้นและการเรียนรู้ที่ช้าลง เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ศธ.โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เสนอนโยบาย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม" ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบนโยบายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต หนึ่งในนั้นคือ วิกฤตด้านเด็กปฐมวัยมีแนวโน้มใช้โทรศัพท์มือถือสูงขึ้น
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ศธ. มุ่งลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ เพื่อลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัยต่อเนื่องด้วยการเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นหลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย การเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ เพิ่มความรัก ความใส่ใจ และส่งเสริมเวลาคุณภาพของครอบครัว ขณะเดียวกัน ศธ. ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัด ศธ. ศึกษาแนวทางการลดใช้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรียน โดยต้องไม่ลิดรอนสิทธิเด็ก รวมถึงแยกประเด็นนี้จากเรื่องของการใช้อุปกรณ์เป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าการที่เด็กจะเติบโตอย่างสมบูรณ์ เรียนดี มีความสุขได้นั้น ผู้ปกครองจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ At HeaR วันที่ 18 สิงหาคม 2567