สพฐ.มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04277/ว590 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่เกิดจากเครื่องทำน้ำเย็น
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04277/ว590 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่เกิดจากเครื่องทำน้ำเย็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กทม. 10300 มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04277/ว590 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567
เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่เกิดจากเครื่องทำน้ำเย็น
เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต
อ้างถึง 1. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04277/ว307 ลงวันที่ 22 เมษายน 2567
2. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04277/ว85 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2557
ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 - 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีแนวทางการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพนักเรียน ดังนั้น เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาแจ้งสถานศึกษาในสังกัดเน้นย้ำมาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้
1. ตรวจสอบอายุการใช้งานของเครื่องทำน้ำเย็นที่ติดตั้ง และต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ โดยช่างผู้ชำนาญงานเป็นประจำอย่างน้อยทุก 6 เดือน หากหมดอายุการใช้งาน ชำรุด หรือก่อให้เกิดอันตรายให้ยกเลิกการใช้งานทันที
2. ต้องใช้เครื่องทำน้ำเย็นที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และติดตั้งในบริเวณที่แห้งฝนสาดไม่ถึงและไม่ถูกแสงแดด
3. ติดตั้งระบบสายดินให้ถูกวิธีและติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว พร้อมทั้งติดป้ายข้อควรระวังบริเวณเครื่องทำน้ำเย็น เช่น ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ขณะที่ ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนอยู่ในบริเวณที่มีน้ำชื้นแฉะ และหากใช้งานแล้วเกิดความร้อน มีประกายไฟ ควรหยุดใช้งานทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เป็นต้น
4. ที่ตั้งของเต้ารับหรือขั้วต่อจะต้องอยู่บนกำแพงหรือวางให้พ้นมือนักเรียน
5. ให้ความรู้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในการใช้เครื่องทำน้ำเย็นอย่างถูกวิธีรวมถึงการฝึกซ้อมวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
6. จัดให้มีแผนเผชิญเหตุและชักซ้อมแผนเผชิญเหตุในสถานศึกษากรณีดังกล่าวเป็นพิเศษในสถานศึกษาที่มีการใช้อุปกรณ์ อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุ
7. กรณีที่ผู้ประสบเหตุถูกกระแสไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต ให้ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น พลาสติก ผ้าแห้ง หรือถุงมือยาง เพื่อใช้ผลักหรือเขี่ยตัวผู้ประสบเหตุออกจากจุดที่กระแสไฟรั่วอย่างรวดเร็ว
8. เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องมีการทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น/การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) นำส่งสถานพยาบาลและรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ
จึงเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติราชการแทน
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย (สพฐ.)
กลุ่มส่งเสริมความสุขและความปลอดภัย
โทร. 0 2288 5600