ศธ. เดินหน้า เช่าไอแพด, แท็บเล็ต, โน๊ตบุ๊ก แจกนักเรียน – ครู 6 แสนเครื่อง ปี’68
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ. เดินหน้า เช่าไอแพด, แท็บเล็ต, โน๊ตบุ๊ก แจกนักเรียน – ครู 6 แสนเครื่อง ปี’68กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่าไอแพด, แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊ก แจกนักเรียน-ครู โดยคาดว่า จะเริ่มนำร่องในปี 2568 จำนวนกว่า 6 แสนเครื่อง ซึ่งจะใช้งบประมาณ กว่า 15,000 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่าไอแพด, แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊ก แจกนักเรียน-ครู โดยคาดว่า จะเริ่มนำร่องในปี 2568 จำนวนกว่า 6 แสนเครื่อง
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โฆษกศธ. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการ จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับนักเรียนและครู ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดทำความเห็นไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี เพื่อขอกำหนดกรอบการจัดหาอุปกรณ์ ซึ่งยังไม่มีการล็อกสเป็ก ว่าจะต้องเป็นอุปกรณ์ลักษณะไหน ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้ง แท็บเล็ต ไอแพด โน๊ตบุ๊ค และโครมบุ๊ค ซึ่งทางดีอีก็เข้าใจถึงความจำเป็น เพราะอยากเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาแข่งขันกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน
โดยจะอยู่ในการจัดทำคำของบประมาณ ปี 2568 ซึ่งก็ต้องมาดูว่า จะได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐสภาจำนวนเท่าไร โดยคาดว่า จะเริ่มนำร่องปี 2568 จำนวน 600,000 เครื่อง ทั้งครูและนักเรียน
“ศธ.จัดทำคำของบประมาณไปในลักษณะการเช่าซื้อ เครื่องของนักเรียน ตกเดือนละประมาณ 420 บาท ซึ่งจะมีทั้งค่าเครื่อง เซอร์วิส และอินเตอร์เน็ต เพราะทุกเครื่องจะต้องมีซิมการ์ดสำหรับใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ทั้งนี้การคำนวณราคาจะมีความแตกต่างหลากหลาย และค่อนข้างจะเปิดกว้างว่า ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงอย่าง โน๊ตบุ๊ค ก็อาจจะต้องเช่า 5 ปี แต่ถ้าเป็น แท็บเล็ต ที่ราคาไม่สูงมาก ก็อาจจะทำสัญญาเช่าไม่เกิน 3 ปี ซึ่งมิติที่เราดูคือ พยายามเปิดกว้างให้สำหรับโกลบอลแบรนด์ เข้ามาทำการแข่งขัน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือให้เด็ก และครูได้ใช้ของที่มีคุณภาพดี ไม่ว่าจะเป็น บริษัทไมโครซอฟท์ บริษัทแอปเปิล เป็นต้น
นายสิริพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณภาพรวมเฉพาะในส่วนของการจัดหาอุปกรณ์คำนวณจากราคาเช่าต่อเดือน จะใช้งบประมาณ กว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์ให้กับนักเรียนและครู กว่า 600,000 เครื่อง โดยในส่วนของนักเรียนจะเริ่มจากโรงเรียนนำร่องชั้นมัธยมศึกษาปีที่4-6 ในโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนระดับชั้นม.ปลาย หรือโรงเรียนคุณภาพ เพื่อให้มีทั้งตัวอย่างโรงเรียนที่มีความพร้อม ที่สามารถบริหารจัดการได้ และโรงเรียนที่อาจจะยังไม่มีความพร้อมเรื่องการบริหารจัดการไม่มากนัก เพื่อนำมาเปรียบเทียบ และหาวิธีการที่เหมาะสม สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 2
นายสิริพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดทำคอนเทนต์เพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนของการจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นั้น อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกำหนดขอบเขตงาน หรือทีโออาร์ ซึ่งจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้เรียน ให้สามารถเรียนได้ด้วยตัวเองทุกที่ ทุกเวลา และสำหรับผู้สอนที่จะต้องสามารถนำเสนอใบงานของตัวเอง และนำใบงานของผู้อื่นมาทำการเรียนการสอนได้
ระบบนี้จะเป็นลักษณะของการเตรียมความพร้อมในการเรียนการสอน ทั้ง ก่อนการเรียน การจ่ายการบ้าน การให้เด็กทำแบบทดสอบ เป็นต้น โดยคอนเทนต์ที่จะบรรจุเข้าไปในแพลตฟอร์มนั้น จะมีอยู่ 2 ส่วน คือคอนเทนต์เดิม ซึ่งมีอยู่แล้วกว่า 1-2 หมื่นรายการ และคอนเทนต์ใหม่ ที่ผลิตเพิ่มอีกว่า 5-6 พันรายการ คาดว่าจะสามารถใช้งานได้เร็วที่สุด ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 11:21 น.