“เสมา1” ย้ำสมศ.ประเมินสถานศึกษาต้องไม่สร้างภาระให้ครู-นักเรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“เสมา1”ย้ำสมศ.ประเมินสถานศึกษาต้องไม่สร้างภาระให้ครู-นักเรียนรมว.ศึกษาธิการ ถกประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ย้ำ สมศ. การประเมินต้องไม่สร้างภาระให้ครู-นักเรียน แนะดึงเอไอใช้ประโยชน์ เพื่อความประหยัด
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายเรื่องการประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้แนวคิด ลดภาระ เรียนดี มีความสุข จัดโดยสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่า แนวทางการประเมินคุณภาพนอกนั้นจะต้องไม่สร้างภาระแก่สถานศึกษา แต่การประเมินดังกล่าวจะต้องส่งผลให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยด้วย เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการดำเนินงานด้านการศึกษาของตนมีอยู่ 2 ด้าน คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และตนอยากให้นโยบายเรื่องเรียนดีมีความสุขได้ฝังอยู่ในใจของผู้ประเมินทุกคน หากทุกอย่างในสถานศึกษามีความสุขการเรียนการสอนของเด็กและครูก็จะมีความสุขตามไปด้วย ดังนั้นการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. จะต้องทำการประเมินอย่างมีความสุขโดยไม่บังคับใคร เนื่องจากนโยบายของตนคือการลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ทั้งนี้ ตนฝากให้ สมศ. ได้เรียนรู้การประเมินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออาจนำระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาใช้ในการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของสถานศึกษาด้านต่างๆ การประเมินจะต้องสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ และทำให้สถานศึกษาได้ประโยชน์จากการประเมินคุณภาพนอกด้วย ซึ่งที่สำคัญการประเมินควรให้คำแนะนำต่างๆ แก่สถานศึกษา และต้องสร้างกำลังใจให้แก่สถานศึกษาด้วย เพราะสถานศึกษาแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การประเมินดังกล่าวจะไม่ร้องขอให้สถานศึกษาจัดเตรียมเอกสารเพื่อรับการประเมิน โดยใช้ข้อมูลจากการทำงานปกติ ลดจำนวนวันในการประเมิน โดยสถานศึกษาแต่ละแห่งอาจได้รับการประเมินด้วยจำนวนที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 1-3 วัน ตามบริบทของสถานศึกษา ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประเมินคุณภาพภายนอก ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ งดการจัดเตรียมพิธีการต้อนรับและการแสดงต่าง ๆ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาและเป็นภาระของสถานศึกษา และการประเมินจะต้องโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ตนขอเน้นย้ำให้ผู้ประเมินภายนอก ทำการประเมินคุณภาพภายนอกที่สะท้อนผลลัพธ์ด้านคุณภาพผู้เรียนให้ข้อเสนอแนะที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นกระจกสะท้อนผลการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้พัฒนาคุณภาพการการศึกษาของสถานศึกษาและของประเทศโดยรวม
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 10:39 น.