ศธ.เล็งปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว รร.ขนาดเล็ก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.เล็งปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว รร.ขนาดเล็กเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จ.เพชรบุรี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างลงพื้นที่ตรวจติดตามและมอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ในโอกาสประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ว่า ต้องการรับฟังความคิดเห็นและการสะท้อนปัญหาที่แตกต่างกันของในแต่ละพื้นที่ เพราะการบริหารจัดการด้านการศึกษาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งทุกอย่างที่เป็นปัญหาจะได้รับการแก้ไข และทุกเรื่องที่เป็นปัญหาจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้ได้รับการแก้ไข เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนและครู เพราะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยุคนี้เป็นยุคที่เปิดใจรับฟังมากขึ้น เราพยายามหาทางแก้ปัญหาในสิ่งที่เป็นปัญหาเรื้อรังอย่างสุดความสามารถ อะไรที่ทำได้เราจะทำทันที ซึ่งตั้งแต่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และตนเข้ามาปฎิบัติหน้าที่รัฐมนตรีกว่า 7 เดือนแล้ว มีนโยบายที่เราให้ไว้ตั้งแต่เข้าทำงานวันแรก คือ นโยบายลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ก็เป็นนโยบายที่เราทำให้เห็นแล้วว่าเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการยกเลิกครูเวร การเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส และการอนุมัติงบจ้างนักการภารโรง
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานีแก้หนี้ครูของเขตพื้นที่นั้นถือว่าดำเนินการได้ดี มีการแก้ปัญหาหนี้ครูได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายแห่งได้มีการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ครูที่เป็นหนี้ด้วย ส่วนปัญหาการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กตนเชื่อว่ามีปัญหาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านงบประมาณ การขาดแคลนบุคลากร โรงเรียนไหนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชุมชนเข็มแข็งก็สามารถบริหารจัดการได้ดี ทั้งนี้ยอมรับว่าการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กก็ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา เพราะปัจจุบันการคิดอัตราการจัดสรรเงินรายหัวในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราอาจจะต้องคิดถึงการที่จะสนับสนุนเงินรายหัวให้กับโรงเรียนขนาดเล็กใหม่ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กขับเคลื่อนบริหารจัดการและดูแลตัวเองได้ โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค เพราะทุกวันนี้เด็กโตได้เงินอุดหนุนรายหัวจำนวนที่มากกว่ากลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งหากเรามองมุมกลับกันกลุ่มเด็กเล็ก หรือ เด็กปฐมวัย ถือเป็นกลุ่มรากฐานสำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ รมว.ศึกษาธิการ มีความห่วงใย และมอบหมายว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ.ได้ศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กไว้แล้ว
“เราได้ศึกษาผลวิจัยการบริหารจัดการเงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนทุกกลุ่ม ซึ่งพบว่า การสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ดังนั้นเบื้องต้นจากการหารือเรื่องนี้ร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อสนับสนุนเป็นเงินก้อนไปจำนวนหนึ่งให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก จากนั้นจะเพิ่มเงินรายหัวเข้าไปสมทบเพิ่มเติม ซึ่งหากดำเนินการในรูปแบบนี้จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กบริหารจัดการตัวเองได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค” นายสุรศักดิ์ กล่าว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ตนอยากจะให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพจริงๆ ซึ่งตนคิดว่าหากหลักเกณฑ์การรับบุคลากรที่จะเข้ามาอยู่ในโรงเรียนคุณภาพต้องให้มีคุณภาพตามไปด้วย เพราะถ้าได้บุคลากรครูที่มีคุณภาพครบทุกอำเภอเราก็จะขยายไปถึงโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล แต่เราจะเริ่มต้นจากโรงเรียนคุณภาพระดับอำเภอก่อน หากประสบความสำเร็จจะขยายไปในโรงเรียนระดับตำบลต่อไป ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 จะเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทย ที่จะเริ่มการจัดแพลตฟอร์มเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะรองรับการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนของครูและนักเรียนในปี 2568 ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มบริษัทด้านไอทีระดับโลกให้ความสนใจเข้ามาร่วมมือด้านการศึกษาในเรื่องดังกล่าว โดยการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนนั้นยังไม่กำหนดว่าจะเป็นการแจกแท็บเล็ต แล็บท็อป แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาพร้อมกับการใช้งานระบบ Wi-Fi ในตัว ไม่ต้องมาดึง Wi-Fi ของโรงเรียน และจะเป็นระบบเช่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงเรียนเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าก็สามารถคืนอุปกรณ์ได้ทันทีโดยไม่กลายเป็นขยะไอที ส่วนเรื่องการสอบเทียบขณะนี้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ไปจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในไม่ช้านี้ นอกจากนี้ตนขอฝากนโยบายสุขาดีมีความสุขอ โดยขอให้สถานศึกษาทุกแห่งได้ทำมาตรฐานห้องน้ำอย่างเท่าเทียมทั้งนักเรียนและครูและเป็นห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะด้วย.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ At Hear วันที่ 13 พฤษภาคม 2567