LASTEST NEWS

23 ธ.ค. 2567โรงเรียนบ้านหนองบัว รับสมัครครูอัตราจ้าง วุฒิปริญญาตรีทุกสาขา เงินเดือน 6,000 บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 25 ธันวาคม 2567 21 ธ.ค. 2567ปฏิทินการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างลูกจ้างประจำ ประจำปี 2568 20 ธ.ค. 2567สพป.บึงกาฬ เรียกบรรจุครูผู้ช่วย (ขอใช้บัญชี สพม.หนองคาย) จำนวน 3 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 20 ธ.ค. 2567​​​​​​​กรมบัญชีกลาง เปิดสอบพนักงานราชการ 27 อัตรา ไม่ต้องผ่าน ภาค ก ตั้งแต่ 3 - 24 มกราคม 2568 19 ธ.ค. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย เขตอื่น ใช้บรรจุ 2 วิชาเอก 13 อัตรา รายงานตัว 26 ธันวาคม 2567 19 ธ.ค. 2567สพป.มหาสารคาม เขต 2 เผยบัญชีตำแหน่งว่างใช่บรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 5  19 ธ.ค. 2567สพป.อุดรธานี เขต 4 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 45 อัตรา 18 ธ.ค. 2567ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 10/2567 18 ธ.ค. 2567สพม.สงขลา สตูล เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 10 อัตรา - รายงานตัว 24 ธันวาคม 2567 18 ธ.ค. 2567กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 21 อัตรา สมัครทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 - 21 มกราคม 2568

เปิดใจพ่อแม่ "การบ้าน" คือตัวการทำเด็กเครียดจริงหรือ?

  • 01 ก.พ. 2556 เวลา 07:38 น.
  • 3,983
เปิดใจพ่อแม่ "การบ้าน" คือตัวการทำเด็กเครียดจริงหรือ?

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า "การบ้าน" คือจิ๊กซอว์สำคัญตัวหนึ่งในระบบการศึกษาไทยที่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้ปัจจุบัน การบ้านบางวิชาจะเปลี่ยนรูปแบบไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม เช่น วิชาคณิตศาสตร์ จากรุ่นพ่อแม่ที่เคยต้องลอกโจทย์ แสดงวิธีทำลงในสมุด ปัจจุบันอาจเหลือเพียงใบงานที่แทบไม่ต้องเขียนวิธีทำมากมายอีกต่อไป 
       
       กระนั้น การอ้างปัญหาเด็กเครียดเพราะการบ้านเยอะก็ยังคงมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดจะปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา โดยจะลดปริมาณงาน - การบ้านของเด็กนักเรียนลง หวังช่วยลดความเครียดในเด็กและช่วยให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น
       
       สิ่งที่ต้องถามต่อมาก็คือ การมอบตำแหน่งจำเลยทำเด็กเครียดให้กับการบ้านนั้น ตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน และจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสสอบถามจากพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง ที่ออกมาเผยว่า แท้จริงแล้วในระบบการศึกษาไทย ยังมีจิ๊กซอว์อีกหลายตัวที่สามารถสร้างความเครียดในเด็กได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ "การทำรายงานกลุ่ม"
       
       คุณเมย์ (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) คุณแม่ลูกสองที่ปัจจุบัน เด็ก ๆ กำลังศึกษาในระดับมัธยมต้นของโรงเรียนเอกชนชื่อดังย่านสะพานพุทธเผยกับทีมงาน Life & Family ว่า การบ้านของลูกนั้นหนักจริง แต่ปัจจุบันหนักใจกับการทำรายงานกลุ่มมากกว่า
       
       "ความเห็นส่วนตัวต่อการบ้านของเด็กสมัยนี้ รู้สึกว่ามันไม่เหมือนการบ้าน เหมือนงานเก็บอะไรสักอย่าง เด็ก ๆ แค่เสิร์ชข้อมูล ก๊อปปี้ - แปะ - ปรินต์ แต่เด็กไม่ได้อะไรเลย นอกจากนั้นปัญหาที่พบคือ ครูสั่งงานกลุ่มแทบทุกวิชา แต่เด็กไม่มีเวลาให้กับการทำงานกลุ่ม เนื่องจากปัจจุบันเรียนหนักมาก หลังเลิกเรียนบางคนก็ต้องไปเรียนพิเศษ ในจุดนี้อยากให้ทางโรงเรียนจัดสถานที่ และเวลาให้เด็กได้ใช้คุยงานกันบ้าง เหมือนในมหาวิทยาลัยที่จะมีห้องให้นักศึกษาได้คุยงานกัน ส่วนการบ้านอย่างวิชาคณิตศาสตร์จะมีทุกวันก็ไม่เป็นไร แต่บางวิชาเช่น สังคม ประวัติศาสตร์ จะหนักใจหน่อย เพราะคุณครูบอกว่าใช้คอมพิวเตอร์ได้ ที่บ้านก็ต้องต่อแถวรอ ผลัดกันใช้คอมพ์ กว่าจะเสร็จก็นานเหมือนกัน"
       
       ด้านคุณใหม่ คุณแม่ลูกสามที่เด็ก ๆ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งย่านบางเขน ก็ออกมาให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การบ้านและรายงานสำหรับเด็กในยุคนี้ถือว่าค่อนข้างหนัก
       
       "พูดถึงการเรียนของเด็กสมัยนี้ ผู้ปกครองก็ต้องตามอยู่ตลอดเวลา ต้องมีศักยภาพด้วยนะ (ถอนใจเหนื่อย) แต่ละบ้านก็ต้องเตรียมให้พร้อม กรรไกร กาว กระดาษ คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ เผื่อต้องทำรายงาน ทำพรีเซนต์ต่าง ๆ เวลาลูกมีรายงานต้องทำส่ง ก็จะช่วยกันหาข้อมูลออกมา พรินต์ออกมานั่งดูกัน มาคัดเลือกกันว่าจะใช้ข้อมูลตัวไหน แล้วก็ช่วยดูเวลาเขาเรียบเรียงออกมาเป็นรายงาน ถ้ามีงานกลุ่มก็ต้องอยู่เย็นขึ้นอีกหน่อย แบ่งหน้าที่กันให้เสร็จ แล้วก็กลับไปทำที่บ้าน"
       
       "แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะพร้อมตลอด คนที่ไม่พร้อมก็มี ผลของความไม่พร้อมก็คือลูกไม่มีงานส่งไง ติด ร.ไป คือในการสนับสนุนลูกในระบบการศึกษาแบบนี้ เราต้องเตรียมเอาไว้หมด ทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เงิน เวลา การรับส่ง" 
       
       หันไปฟังความเห็นจากฝั่งครู นายวรพงษ์ แสงประเสริฐ อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่ออกมายืนยันว่า การบ้านเป็นสิ่งจำเป็นที่ให้เด็กกลับไปทบทวนเนื้อหาที่เรียนไป ทำให้ได้คิดและค้นคว้าด้วยตัวเอง หลังจากที่เรียนในห้องไปแล้ว ถ้าจะไม่ให้มีการบ้านเลยไม่เห็นด้วย ยอมรับว่าขณะนี้ทุกวิชามีการบ้านให้เด็กมากเกินไป ซึ่งอาจจะใช้วิธีการลดการบ้านลงเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และบูรณาการหลักสูตรให้มีโครงงานและรายงานน้อยลง

 
 เครียดเพราะการบ้าน หรือเครียดเพราะไม่พร้อม?
       
       หากมองปัญหาเด็กเครียดในระบบการศึกษาไทยให้ลึกลงไปอีก ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่า เด็กไทยทุกวันนี้มีเด็กที่มาเรียนทั้ง ๆ ที่ไม่พร้อมจะเรียนอยู่มากมาย เริ่มจากการตื่นนอน หลายคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อหนีปัญหารถติด ก่อนจะมาง่วงพับหลับคาห้องเรียน บางคนครอบครัวมีปัญหา กระทั่งอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นก็ไม่สามารถพกใส่กระเป๋ามาได้ หรือเงินค่าขนมที่อาจกลายเป็นค่าอุปกรณ์ในการทำรายงาน ค่าซีร็อกซ์ชีท ค่าซื้อดินสอปากกา ยังแทบไม่มี ข้าวเช้าก็ไม่มีใครเป็นธุระจัดหาให้ แล้วเขาเหล่านี้จะพร้อมสำหรับการเรียนในห้องเรียนได้อย่างไร
       
       อาจารย์เมธิกา ธนไพศาลกิจ อดีตอาจารย์ฝ่ายปกครองของโรงเรียนสวนอนันต์ย่านฝั่งธนให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "ปัญหาเด็กเครียดในระบบการศึกษาอาจไม่ได้เกิดจากการบ้านเสียทั้งหมด แต่ปัญหาเรื่องความพร้อมในการเรียนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งครูขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พร้อมเลยทั้งในด้านฐานะ - เวลาที่จะให้การสนับสนุนลูก เด็กที่มีปัญหาในการเรียนมักเติบโตในครอบครัวประเภทนี้ พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้มักเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เด็กกลุ่มนี้มีความพร้อมในการเรียนน้อยที่สุด แถมยังมีปัญหาด้านจิตใจด้วย เพราะหากพ่อแม่มีปัญหาก็มักจะระบายลงที่เด็ก เด็กบางคนในกลุ่มนี้ กระทั่งปากกา ยางลบ ดินสอยังไม่มีมาโรงเรียน ต้องมาขอยืมเพื่อน เมื่อต้องเรียนหนังสือบนความไม่พร้อม ย่อมเป็นบ่อเกิดของความเครียดได้ง่าย"
       
       "ส่วนกลุ่มที่สอง ครอบครัวมีความพร้อมเรื่องฐานะ แต่ไม่มีเวลา เป็นเด็กกลุ่มใหญ่อีกเช่นกัน พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้มักเป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ ที่มีเวลาเลิกงานค่อนข้างเย็น บางครั้งก็ดึก ทำให้ต้องปล่อยลูกทำการบ้านเอง หรือไม่ก็ให้ทางโรงเรียนจัดการ เช่น ส่งเข้าเรียนพิเศษกับทางโรงเรียนหลังเลิกเรียนต่อ ซึ่งหากเด็กยังเล็ก และไม่มีใครช่วยดูแลเรื่องการบ้าน ความรับผิดชอบต่าง ๆ ให้ ก็เป็นไปได้ว่าจะหลงลืม ไม่ได้ทำงานส่งครูครบทุกชิ้น และเกิดความเครียดได้"
       
       "กลุ่มที่สามมีความพร้อมเรื่องเวลา แต่ไม่มีฐานะ พ่อแม่กลุ่มนี้มีเวลาจริง แต่ฐานะยากจน ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนลูกในเรื่องการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำรายงานในปัจจุบัน ต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ต้องมีคอมพิวเตอร์หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หรือบางทีก็ต้องใช้ฟิวเจอร์บอร์ด กาว กรรไกร กระดาษสี เหล่านี้ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น ดังนั้น หากพ่อแม่ไม่สามารถสนับสนุนในจุดนี้ได้ ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีไม่เหมือนเพื่อน ๆ และเกิดเป็นความเครียดได้เช่นกัน"
       
       ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ครอบครัวมีความพร้อมทั้งฐานะและเวลา เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่โชคดีที่สุดที่มีพ่อแม่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา รวมถึงสอนเทคนิคในการจัดการกับภาระงานต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนมอบหมายได้
       
       ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องฟันฝ่าเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเรียนนั้นมีอยู่มากมาย และปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการ "โยนเงิน" ใส่เข้ามาในระบบการศึกษาเหมือนที่ผ่าน ๆ มา หากแต่ต้องอาศัยความจริงใจในการสร้างสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้อย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สภาพแวดล้อมที่เด็กมีผู้สนับสนุนในการศึกษาเล่าเรียน สภาพแวดล้อมที่ครูมีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก และที่สำคัญที่สุดคือการมีพ่อแม่ที่สนใจ - ใส่ใจ - สอบถามความเป็นไปของลูก เพราะอย่าลืมว่าความก้าวหน้า หรืออนาคตในหน้าที่การงานของพ่อแม่นั้น พ่อแม่สามารถไขว่คว้าได้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ แต่เวลาที่จะได้ใส่ใจ ดูแลลูก ๆ นั้นอาจกำลังลดน้อยลงทุกขณะ! 
 
 
 
 
  • 01 ก.พ. 2556 เวลา 07:38 น.
  • 3,983

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : เปิดใจพ่อแม่ "การบ้าน" คือตัวการทำเด็กเครียดจริงหรือ?

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^