แซด! ธุรการ รร.ยังไม่มีสิทธิ์สมัครสอบครูผู้ช่วย สพฐ.67 ต้องรออีก 3 ปี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
แซด! ธุรการ รร.ยังไม่มีสิทธิ์สมัครสอบครูผู้ช่วย สพฐ.67 ต้องรออีก 3 ปีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 EduGuide 4.0 รายงานข่าวความคืบหน้ากรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับความสับสน ไม่ชัดเจนในการเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 5-11 เมษายน 2567 ในกลุ่มธุรการโรงเรียนที่ช่วยสอนนักเรียน แม้ว่าปีนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ผลักดันให้ธุรการในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ช่วยสอนนักเรียนมีสิทธิ์สมัครสอบคัดเลือกด้วย แต่เกิดปัญหาการตีความคุณสมบัติสัญญาจ้างธุรการโรงเรียนที่ผ่านมาระบุว่า "ห้ามธุรการสอน" ส่งผลให้บางเขตพื้นที่การศึกษาให้สมัครได้ แต่บางเขตพื้นที่ฯไม่ให้สมัครนั้น
ล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อความในโซเชียลแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษา อ้างถึงนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. ได้แจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และ ผอ.กลุ่มบุคคล ทำความเข้าใจกรณีธุรการจะมีสิทธิ์สอบครูผู้ช่วย ว16/57 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจาก 1. สพฐ.เปิดล็อกให้มีสิทธิ์สมัคร ขึ้นอยู่กับเอกสาร หลักฐานของแต่ละคน 2.เขตพื้นที่ฯตรวจเอกสารหลักฐานตามประกาศสอบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา คือ ใบประกอบวิชาชีพปัจจุบัน คุณสมบัติตามมาตรา 30 สัญญาจ้างครบ 3 ปี คำสั่งให้สอนครบ 3 ปี
3.การรับรองเอกสารหลักฐาน เป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียนรับผิดชอบ 4.สพฐ.มีหนังสือยกเลิกหนังสือห้ามธุรการสอน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 กรณีมีธุรการที่มีเอกสารครบตามข้อ 2 สามารถสมัครได้ และ 5.กรณีไม่แน่ใจให้ สพท.นำเข้าที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาวินิจฉัย (ไม่ใช่คณะกรรมการวินิจฉัยตัดสิทธิ์แต่ต้น)
นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า ธุรการโรงเรียนบางคนมีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ต้องมาทำหน้าที่ธุรการโรงเรียน จึงขอสอน ซึ่งบางโรงเรียนผู้อำนวยการใจดีให้สอน แต่ก็คงไม่กล้าทำเอกสารรับรอง เพราะก่อนหน้านี้มีหนังสือ สพฐ.ห้ามธุรการสอน อาจถูกร้องเรียนภายหลังได้ ขณะเดียวกันก็เคยมีธุรการบางโรงเรียนที่ไม่อยากสอน จะอ้างว่า สพฐ.และเขตพื้นที่การศึกษาห้ามสอน เลยไม่ยอมช่วยสอน
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: EduGuide 4.0 วันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 17.40 น.