สพฐ. ห่วงใย กำชับโรงเรียนดูแลตัดเกรดนักเรียนตามมาตรฐาน ย้ำ ไม่มีเก็บเงินเพิ่มทุกกรณี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ. ห่วงใย กำชับโรงเรียนดูแลตัดเกรดนักเรียนตามมาตรฐาน ย้ำ ไม่มีเก็บเงินเพิ่มทุกกรณีวันที่ 22 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพนักเรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสวัสดิภาพนักเรียน ยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมถึงการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพ
โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทำต่อนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเช่นข่าวที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง เรียกเก็บเงินจากเด็กนักเรียนเพื่อให้แก้คะแนนที่ติด ร ไม่เช่นนั้นจะไม่ลงระบบแก้คะแนนให้ ถึงแม้จะไม่ใช่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ สพฐ. มีความห่วงใยและต้องการกระตุ้นเตือนหน่วยงานในสังกัดให้มีการเฝ้าระวังและกำชับผู้ปฏิบัติงานให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะเรื่องการให้คะแนนผลการเรียนของนักเรียน ซึ่ง สพฐ. มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้อยู่แล้ว และไม่มีนโยบายที่จะเรียกเก็บเงินจากนักเรียนหรือผู้ปกครองในทุกกรณี
ทั้งนี้ สพฐ. ได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม โดยมีเจตนากระตุ้นให้สถานศึกษากำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริมและดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด ๐ ร มส) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพื่อให้การเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด ๐ ร มส โดยการที่นักเรียนจะได้รับการตัดสินผลการเรียน ต้องมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน เป็นการมุ่งหวังให้ผู้สอนมีเวลาในการพัฒนาผู้เรียน และเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น เป็นการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ทักษะการคิด ที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาค ให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายปี/ปลายภาค เช่น 60 : 40, 70 : 30, 80 : 20 เป็นต้น
“เมื่อเกิดเหตุดังที่ปรากฏในข่าว ถึงแม้ไม่ใช่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นดังกล่าว และมีความห่วงใยว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนได้ จึงกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง เร่งทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบจากประเด็นดังกล่าวได้ และขอให้สาธารณชนมั่นใจว่า สพฐ. จะกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ สพฐ. วันที่ 22 มีนาคม 2567