ไม่มีดราม่า!!! 'คุรุสภา' แจงทดสอบ-ประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“คุรุสภา”แจงไม่มีดราม่า การทดสอบ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามที่คุรุสภาประกาศผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งได้มีการจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2566 ล่าสุด คุรุสภา มีผู้เข้าสอบรวม 42,474 คน และสอบผ่าน 11,127 คน ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การให้คะแนน โดยคุรุสภากำหนดเกณฑ์ผ่านไว้ที่ 60% แต่ผู้เข้าสอบที่ได้คะแนน 55 และ 57 สอบผ่านนั้นเพราะการสอบครั้งนี้ใช้ข้อสอบใหม่ ซึ่งจะวัดสมรรถนะ ผู้เข้าสอบ โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังมหาวิทยาลัย เตรียมการแจ้งนักศึกษา ว่าการสอบครั้งนี้จะเน้นวัดสถานการณ์ 100% อย่างไรก็ตาม การสอบครั้งนี้มีผู้สอบผ่านเพียง 22% จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อย โดยคุรุสภาเปิดให้ผู้สมัครสอบเข้ามาดูคะแนนผลการสอบได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ด้าน นายมนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาคุรุสภา กล่าวว่า การทำข้อสอบจะเน้นมาตรฐานวิชาชีพ เกี่ยวกับศาสตร์การสอน จิตวิทยา หลักสูตรและการสอน การวัดและประเมินผล เรื่องการใช้สื่อ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ ที่ครูรุ่นใหม่จะต้องจัดการเรียนการสอนที่เป็นฐานสมรรถนะ ดังนั้น ตัวครูเองก็จะต้องถูกวัดด้วยฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสะท้อนถึงศักยภาพที่ครูจะต้องแสดงถึงความสามารถในการออกแบบ วิเคราะห์ วิธีการสอนและการแก้ปัญหาต่าง ๆได้ ดังนั้น ข้อสอบจึงเน้นเรื่องสถานการณ์ให้ผู้ที่เข้าสอนใช้ความรู้ไปวิเคราะห์ แก้ปัญหาในการเรียนการสอนตามหลักวิชาชีพ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ตรงนี้คือเป้าหมายเพื่อจะยกระดับคุณภาพครูให้สามารถแก้ปัญหาเด็ก ในบริบทพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ข้อสอบฐานสมรรถนะมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปดูได้
ขณะที่ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ตัดสิน ยังเป็นเกณฑ์ 60% เช่นเดียวกันการสอบครั้งแรก แต่ให้คำนึงถึงความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการทดสอบ เพราะข้อสอบแต่ละชุด จะมีคะแนนสูงสุดต่ำสุด และคะแนนเฉลี่ยไม่เท่ากัน โดยทางคุรุสภาพยายามทำให้ข้อสอบทุกชุดมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ในทางวิชาการ ก็จะมีความยากง่าย หรือที่เรียกว่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของคุณภาพข้อสอบต่างกันเล็กน้อย โดยการสอบแต่ละรอบจะใช้ข้อสอบคนละชุดกัน แม้จะเป็น Blueprint หรือพิมพ์เขียวเดียวกัน แต่คำถามก็ต้องต่างกัน เพื่อไม่ให้ข้อสอบรั่ว เพราะฉะนั้น เกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน จึงไม่ใช่ที่ 60% พอดี แต่จะมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน หรือที่เรียกว่า Standard Error of Measurement (SEM) ซึ่งค่า SEM ทำให้การให้คะแนนมีความยืดหยุ่นอยู่ที่ 1 - 2 SEM หริอประมาณ 1 - 5 คะแนน และความยืดหยุ่นของขอสอบแต่ละชุดก็ไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สอบผ่านจึงไม่ใช้ผู้ที่สอบได้ 60% เท่านั้น แต่ผู้ที่ได้คะแนน 57% หรือ 55% ก็สอบผ่านด้วย
“ในอนาคตทางคุรุสภา ก็อยากเห็นการตัดสินผลสอบที่ 60% อย่างแท้จริง แต่ช่วงนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อสอบ จึงต้องยอมรับความคลาดเคลื่อน เพื่อประโยชน์ของผู้เข้าสอบ” ดร.พฤทธิ์ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567, 15.00 น.