“เพิ่มพูน” พอใจ สพฐ.ลดภาระงานครูคืบหน้า
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“เพิ่มพูน” พอใจ สพฐ.ลดภาระงานครูคืบหน้าเมื่อวันที่ 15 ม.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Zoom ว่า การประชุมมอบครั้งนี้ตนได้จัดทำแบบสอบถาม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทำแบบสอบถามหลังมอบนโยบายด้วย ซึ่ง สพฐ.ได้นำเสนอผลงานต่าง ๆ ตามนโยบาย ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมหลายเรื่อง เช่น การลดภาระครู การประเมินวิทยฐานะครู การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่นำงานธุรการมอบให้เขตพื้นที่ทำแทนสถานศึกษา เป็นต้น โดยตนถือว่านโยบายที่ตนมอบให้ สพฐ.ไปดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องการลดภาระครูนั้นเป็นที่น่าพอใจและทำได้ดี รวมถึงได้ติดตามการดำเนินการโครงการการเรียนการสอนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่สร้าง 183 โรงเรียนต้นแบบดีแอลทีวีให้เป็นเครือข่ายโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ แต่ได้มอบเป็นการบ้านกลับไปว่า สพฐ.ดำเนินโครงการนี้มาแล้วกว่า 20 ปี แต่ทำไมมีโรงเรียนต้นแบบเพียง 183 โรง ควรไปทบทวนดูว่ามีปัญหาและอุปสรรคอะไรจึงทำได้แค่นี้ แล้วรีบปรับปรุงแก้ไข
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังกำชับเรื่องการทุจริตต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 แม่ฮ่องสอนที่เมนูอาหารกลางวันของเด็กเป็นเมนูไข่ต้มกับน้ำปลา ซึ่งตนมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เป็นโรงเรียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาของสังคม และครูในกลุ่มโรงเรียนนี้สละเวลาและอุทิศตนทำงานอย่างหนัก ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ตนไม่อยากให้เหมารวมทั้งหมด เพราะโรงเรียนราชประชานุเคราะห์อีกหลายแห่งบริหารจัดการสถานศึกษาของตัวเองได้ดีเยี่ยม ส่วนประเด็นการจัดทำการประเมินผู้บริหารเขตพื้นที่และผู้บริหารสถานศึกษาด้วยรูปแบบใหม่นั้น ตนต้องการให้ผู้รับการประเมินเป็นผู้บอกเองว่าทำอะไรได้แบบไหน เพราะต้องยอมรับว่าทรัพยากรด้านงบประมาณและงานบุคคลต่างๆแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นผู้รับการประเมินจะรู้ตัวเองดีว่ามีศักยภาพทำได้มากน้อยแค่ไหน เช่น บางเขตพื้นที่บอกว่าไม่มีทรัพยากรอะไรเลยติดศูนย์แต่สามารถดำเนินการให้เพิ่มเป็น 3 ได้ ซึ่งเท่ากับว่าการประเมินจะให้คะแนนเพิ่มอีก 3 แต้ม เป็นต้น ดังนั้นการประเมินรูปแบบใหม่จะประเมินตามบริบทของพื้นที่.
#At_HeaR #ข่าวจริงเข้าหู #กระทรวงศึกษาธิการ #สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ At HeaR วันที่ 15 มกราคม 2567