ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 13/2566 วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการและกรอบแนวคิดในการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นผู้จัดทำระบบการย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ นั้น
ในระยะเริ่มต้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฯ ให้รองรับเฉพาะการย้ายกรณีปกติก่อนโดยจัดทำระบบการย้ายสับเปลี่ยนที่เรียกว่า “ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS)” ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการย้ายให้กับข้าราชการครูฯ และเพื่อให้การใช้งานระบบดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา ส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวทางและวิธีดำเนินการย้ายผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบใหม่ซึ่งการย้ายสับเปลี่ยนผ่านระบบ TMS หมายถึง การย้ายสับเปลี่ยนกับตำแหน่งที่มีคนครอง ซึ่งเป็นการย้ายผู้ดำรงตำแหน่งครูด้วยกัน ที่ทำการสอนในสาขาวิชาหรือกลุ่มวิชาหลักตรงกัน เพื่อไปดำรงตำแหน่งเดิมในต่างสถานศึกษาที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ขอย้ายสับเปลี่ยน ภูมิลำเนาของบิดาและหรือมารดา หรือภูมิลำเนาของคู่สมรส และเป็นการย้ายในส่วนราชการเดิม ผ่านระบบ TMS โดยภูมิลำเนาของผู้ขอย้ายสับเปลี่ยนต้องเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้ขอย้ายสับเปลี่ยน รวมถึงที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบิดาและหรือมารดาของผู้ขอย้ายสับเปลี่ยน หรือ ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของคู่สมรสของผู้ขอย้ายสับเปลี่ยนเท่านั้น และสถานศึกษารับย้ายต้องมีอัตรากำลังสายงานการสอนในภาพรวมไม่เกินเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ทั้งนี้ การจัดทำระบบย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการครูฯ ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น” ซึ่งต้องการให้ครูสามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนได้มีบุคลากรซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้ามาทำการสอน โรงเรียนได้ครูครบชั้น และครูมีความสุขกับการสอน โดยทางกระทรวงศึกษาธิการเตรียมเปิดตัว ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) มอบเป็นของขวัญวันครู ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และจะเปิดให้ใช้งานระบบได้ในที่ 16 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้
2. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำปฏิทินการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยในหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ และหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ได้กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้กำหนดปฏิทินการดำเนินการ ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า ปฏิทินการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการไม่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน เช่น การย้ายรอบที่ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กำหนดให้พิจารณาย้าย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2566 ซึ่งเมื่อการพิจารณาย้ายแล้วเสร็จพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งมีข้าราชการครูย้ายออก แต่ไม่สามารถย้ายข้าราชการครูหรือบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้หรือผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าทดแทนได้ก่อนเปิดภาคเรียน ส่งผลให้สถานศึกษาขาดข้าราชการครูที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน และเกิดผลกระทบกับผู้เรียน
ดังนั้น เพื่อให้เป้าหมายในการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการในแต่ละปีงบประมาณบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ จึงควรมีกรอบแนวทางในการให้ได้มาซึ่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา โดยในวันเปิดภาคเรียนสถานศึกษาต้องมีผู้บริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารและจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ก.ค.ศ. จึงได้เห็นชอบกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำปฏิทินการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดให้ส่วนราชการกำหนดปฏิทินการบริหารงานบุคคลในภาพรวม ประกอบด้วยปฏิทินการย้าย ปฏิทินการสอบแข่งขัน ปฏิทินการคัดเลือก และการขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ประจำปีงบประมาณให้มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กัน โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
1.1 วันเปิด-ปิด ภาคเรียนของปีการศึกษาที่อยู่ในปีงบประมาณนั้น
1.2 ช่วงระยะเวลาการย้ายของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและตำแหน่งครู
1.3 ช่วงระยะเวลาการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกตำแหน่งครูผู้ช่วย การขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การคัดเลือกตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งวันบรรจุและแต่งตั้ง
1.4 ช่วงระยะเวลาการรับโอน (ถ้ามี)
โดยต้องคำนึงว่าเมื่อมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาย้ายออกจากสถานศึกษาใดสถานศึกษาหนึ่ง ต้องมีการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าทดแทน หรือบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้หรือผู้ได้รับการคัดเลือก ขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ หรือรับโอน (ถ้ามี) ทดแทนได้โดยทันที ทั้งนี้ ในวันเปิดภาคเรียนสถานศึกษาต้องมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับเป็นสำคัญ
2. ให้ส่วนราชการประกาศปฏิทินการบริหารงานบุคคลประจำปีงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับทราบโดยทั่วกันก่อนวันเริ่มต้นปีงบประมาณ และกำกับ ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามปฏิทินการบริหารงานบุคคลที่กำหนดต่อไป
3. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย
เพื่อให้การดำเนินการสรรหาฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพ ตรงตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา โดยยึดถือระบบคุณธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามมาตรฐานวิชาเอก ที่ ก.ค.ศ. กำหนด และยังคงหลักการเพื่อให้ได้ครูที่เป็นคนเก่ง คนดี มีศักยภาพและมีประสบการณ์ในการสอน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมทั้งประโยชน์ต่อส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษา จึงได้มีมติให้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้ส่วนราชการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข โดยยังคงให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก เพื่อให้การสอบเป็นมาตรฐานเดียวกัน
2. กำหนดรายละเอียดองค์ประกอบการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ เพิ่มเติม โดยคงองค์ประกอบตามหลักสูตรแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อให้การประเมินดำเนินการภายใต้องค์ประกอบเดียวกัน ลดการใช้ดุลยพินิจในการประเมิน และให้เพิ่มการประเมินเรื่องความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย จิตสำนึกเรื่องการรักชาติ รักประเทศ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และคุณธรรมจริยธรรม ไว้ด้วย
3. กรณีที่ได้ผู้ได้รับการคัดเลือกไม่ครบตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัครไว้ ให้ส่วนราชการบริหารจัดการตำแหน่งว่างดังกล่าวได้ตามความเหมาะสมโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการตำแหน่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการขาดแคลนครูในสถานศึกษา และประหยัดงบประมาณในการดำเนินการสอบคัดเลือก
4. การกำหนดสาขาวิชาเอกเพื่อใช้ในการคัดเลือก สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้คำนึงถึงเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอก ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ทั้งนี้ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย นี้ ให้ใช้กับทุกส่วนราชการ เพื่อให้สามารถดำเนินการในปี พ.ศ. 2567 ได้ทันตามแผนการดำเนินการของส่วนราชการ
4. เห็นชอบ การปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว 14/2566)
สืบเนื่องจากการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตาม ว 14/2566 ซึ่งกำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารการศึกษาพิเศษเป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบภาค ก และภาค ข พบว่า การดำเนินการในปี พ.ศ. 2566 การออกข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินการ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบเป็นมาตรฐานเดียวกัน และได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถภายใต้การดำเนินการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ก.ค.ศ. จึงมีมติยกเลิกข้อ 9 อนุ 9.1 ตาม ว 14/2566 ที่กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถภายใต้การดำเนินการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยยึดถือระบบ คุณธรรมความเสมอภาค ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในการสอบแข่งขันและคัดเลือกครู
5. เห็นชอบ แก้ไขเพิ่มเติมการตั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง ตั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเรื่อง ตั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแล้ว เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โดย อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งจะครบวาระฯ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 นั้น
ขณะนี้มีประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 25 เขต พ้นจากการเป็นคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากเป็นผู้มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เกษียณอายุราชการ และลาออกจากตำแหน่งทำให้ตำแหน่งว่างลงก่อนครบวาระ ดังนั้น ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการสรรหาคณะอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เพื่อให้ ก.ค.ศ. พิจารณาแต่งตั้ง ซึ่ง ก.ค.ศ. ได้พิจารณาแล้วว่า ผู้ได้รับการเสนอรายชื่อทั้งหมดเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมการตั้ง
อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา โดยแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 25 เขต ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งแจ้งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
6. เรื่องร้องเรียนการทุจริตการสอบบรรจุครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ
สืบเนื่องจากการที่มีการร้องเรียนประธานและอนุกรรมการข้าราชการครู ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาว่าร่วมกันทุจริตในการคัดเลือกครูผู้ช่วย ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีที่มีการร้องเรียนดังกล่าวแล้ว และได้นำส่งผลการสืบสวนมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. โดย ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น จึงมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของประธานและอนุกรรมการข้าราชการครูใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของประธานและอนุกรรมการข้าราชการครูใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษานั้น เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ก.ค.ศ. มีมติ จนกว่า ก.ค.ศ. จะมีมติเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินต่อไปได้ จึงให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาเลือกผู้แทนในคณะอนุกรรมการปฏิบัติหน้าที่ประธานไปพลางก่อน เพื่อให้องค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: สำนักงาน ก.ค.ศ. วันที่ 28 ธันวาคม 2566