ผลคะแนน PISA นักเรียนไทยร่วง !!! “เพิ่มพูน” สั่งการเร่งยกระดับ ลั่นถ้าไม่ดีขึ้นพร้อมพิจารณาตัวเอง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ผลคะแนน PISA นักเรียนไทยร่วง !!! “เพิ่มพูน” สั่งการเร่งยกระดับ ลั่นถ้าไม่ดีขึ้นพร้อมพิจารณาตัวเองเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ แถลงข่าวผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ปี 2022 โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การประเมินดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้านดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักที่ด้านใดด้านหนึ่ง ในแต่ละรอบการประเมิน
รมช.ศธ.กล่าวอีกว่า ในปี 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนส.ค.2565 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย โดยผลการประเมินพิซา 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ
นายสุรศักดิ์ กล่าวค่อไปว่า ส่วนผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD
“สำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก แม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลง แต่เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูงมีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ ซึ่งเรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้แสดงความเป็นห่วง และกำชับให้ ศธ.เร่งยกระดับในเรื่องดังกล่าว โดยล่าสุด ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหา และกำหนดมาตรการในการแก้ไขจุดบกพร่องในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยจะต้องมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ทั้งการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด
ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ซึ่งจากผลการประเมินก็แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยมีผลคะแนนที่ต่ำลง โดยเราคงปฎิเสธไม่ได้และต้องยอมรับผลคะแนนดังกล่าวตามความเป็นจริง แต่หากดูภาพรวมแล้วก็คงไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีผลประเมินต่ำลง แต่ภาพรวมเกิดขึ้นกับทุกประเทศเมื่อเทียบกับผลประเมินเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบของทุกประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้ายทายในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้จากผลการประเมินของนักเรียนไทยดังกล่าวทำให้ศธ.ต้องวางแนวทางแก้ปัญหา โดยจะตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาผลประเมินพิซาของนักเรียนไทย ซึ่งจะมีสภาการศึกษาช่วยขับเคลื่อนวางทิศทางการแก้ไขปัญหาพร้อมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมแก้ปัญหาด้วย
“ต้องยอมรับว่าการศึกษาต้องใช้เวลาและต้องเริ่มต้นจากการศึกษาระดับปฐมวัยไป โดยจากนี้ไปเราจะต้องปรับทิศทางการจัดการเรียนการสอนมุ่งสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น และส่งเสริมเรื่องการอ่าน เพราะนการสอบพิซาจะเน้นขอสอบที่คิดวิเคราะห์ ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องมุ่งเน้นการคิดอ่านแบบคิดวิเคราะห์ของนักเรียนให้มากขึ้น ทั้งนี้ผมขอให้เชื่อการทำงานภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานของศธ.จะทำงานแก้ปัญหาให้รวดเร็วและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตนคาดว่าการประเมินพิซาในปี 2025 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน และหากเมื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้วผลคะแนนพิซาในรอบถัดไปยังไม่ดีขึ้นผมขอรับผิดชอบในการพิจารณาตัวเอง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว.
#At_HeaR #ข่าวจริงเข้าหู #กระทรวงศึกษาธิการ #ผลคะแนนPISA #ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ###
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ At HeaR วันที่ 6 ธันวาคม 2566