4 ใน 5 ของครู ชี้ ประเมินวิทยฐานะต้องไม่เพิ่มภาระงาน ลดการใช้กระดาษ กรรมการประเมินต้องมีมาตรฐานเดียวกัน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
4 ใน 5 ของครู ชี้ ประเมินวิทยฐานะต้องไม่เพิ่มภาระงานสพฐ. เผยผลสำรวจครูกว่า 5 หมื่นคน พบ ครูเกิน 80% เห็นด้วย การประเมินวิทยฐานะต้องไม่เพิ่มภาระงาน ลดการใช้กระดาษ กรรมการประเมินต้องมีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมแนะให้มีทางเลือกการเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะมากกว่านี้
วันนี้ (27 พ.ย. 2566) สุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยความเห็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 53,043 ราย อายุราชการ 5-15 ปี โดยเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดำเนินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ 29,222 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการขอ 7,873 ราย ได้รับอนุมัติการขอไปแล้ว จำนวน 9,770 ราย
สุรินทร์ ระบุว่า กว่า 4 ใน 5 ของครูและบุคลากรทางการศึกษามองว่า การประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง ควรใช้แนวทางที่ไม่เพิ่มภาระงาน และลดการสิ้นเปลืองในการใช้กระดาษ คณะกรรมการประเมินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละวิชา/สาขา ควรมีความรู้ความเข้าใจในการประเมินเป็นมาตรฐานเดียวกัน และควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้มีทางเลือกการเสนอขอมากกว่าปัจจุบัน
ขณะที่ การประเมินโดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ หรือ Digital Performance Appraisal (DPA) ครูและบุคลากรมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้
- 58.89% เห็นว่ามีความเหมาะสมดีแล้ว
- 33.32% เสนอว่าควรปรับปรุง ส่วนหนึ่งมองว่า การประเมินจากเอกสาร และวิดีโอแรงบันดาลใจไม่สามารถประเมินการจัดการเรียนการสอนได้ทั้งหมด ทั้งยังเป็นภาระให้กับครูที่ขาดอุปกรณ์และขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน แนะควรพัฒนาระบบให้มีความเสถียร เข้าใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว
- 7.79% เห็นว่าไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลว่า ขั้นตอนการประเมินดิจิทัลนั้นยุ่งยาก แนะให้เลื่อนวิทยฐานะให้อัตโนมัติตามอายุราชการ ใช้ความอาวุโสและประสบการณ์เป็นหลัก
สุรินทร์ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้ สพฐ. และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดำเนินการลดระยะเวลาในการขอเลื่อนวิทยฐานะ โดยเร่งแก้ไขเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงแนะให้แก้ไขเกณฑ์การประเมินให้เหมาะสม มีทางเลือกหลากหลาย ที่สำคัญคือต้องการให้ลดภาระงานครูที่นอกเหนือจากงานสอน รวมทั้งให้ผู้เรียนและคณะครูสามารถเข้าร่วมประเมินได้ด้วย
โดยทาง ก.ค.ศ. ได้ตอบรับผลสำรวจดังกล่าวและยืนยันว่าจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบการประเมินวิทยฐานะให้เหมาะสมและสอดคล้องตามความต้องการของบุคลากรทางการศึกษาต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: The Active Thai PBS วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566