โฆษก ศธ.โพสต์โซเชียลแจงสาเหตุ! ศิลปหัตถกรรมนักเรียนปี 2566 จบที่จังหวัด
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
โฆษก ศธ.โพสต์โซเชียลแจงสาเหตุ! ศิลปหัตถกรรมนักเรียนปี'66 จบที่จังหวัด "ธนุ"ชี้ ผอ.เขต พท.ได้มีเวลาแก้ปัญหา'ร.ร.-ครู-น.ร.'-เดินหน้า active learningเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 EduGuide 4.0 รายงานข่าว นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ในโซเชียลเฟซบุ๊ก Siripong Angkasakulkiat ชี้แจงถึงสาเหตุที่การแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี พ.ศ.2566 เหลือแข่งแค่ระดับจังหวัด "เพราะที่ผ่านมามีครูมาสะท้อนปัญหาว่า การพานักเรียนไปแข่งขันต่างจังหวัดเป็นภาระมาก บางครั้งไม่มีงบประมาณถึงกับต้องทำผ้าป่าในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก
แต่การจัดให้มีการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ก็ยังจำเป็นต้องมี เพื่อให้เด็กๆ ได้มีเวที พัฒนาตนเอง เพราะเด็กไม่ได้เรียนเก่งทุกคน ถนัดอะไรต้องมีโอกาส และใช้สร้าง portfolio ของเด็กๆ เอง
ประเด็นผลงานระดับจังหวัดในรายการนี้ให้เทียบเท่ากับระดับชาติ เพราะเขาใช้เกณฑ์นี้ประกอบการเขียน ขอย้าย ประเมินครู และถ้าถามว่าทำไมต้องมี ก็เพราะถ้าไม่มี ก็ไม่มีแรงจูงใจให้ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมเด็กๆ เกณฑ์นี้เขาตั้งเพื่อให้เป็นแรงจูงใจของครูในการสนับสนุนเด็กๆ
ปีนี้ เริ่มใช้ เริ่มปรับ สำคัญคือ เด็กต้องมีเวทีแข่ง ไม่เป็นภาระโรงเรียนมาก และไม่กระทบครู"
EduGuide 4.0 รายงานข่าวด้วยว่า ในโซเชียลแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษายังได้แชร์โพสต์ "ผลประชุม ผอ.เขตทั่วประเทศ ศิลปหัตถกรรมจบที่จังหวัด แข่งทุกกิจกรรม เกียรติบัตรเป็นระดับชาติ (ปีหน้าแยกวิชาการออกจากศิลปหัตถกรรมนักเรียน) , "ชัดเจนแล้ว!! ศิลปหัตถกรรมนักเรียน 2566 จบที่จังหวัด เกียรติบัตรถือเป็นระดับชาติ
นอกจากนี้ ยังเผยแพร่ข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก OBEC Channel ที่ถ่ายทอดสดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรม เทวราช จังหวัดน่าน โดยช่วงเวลา 33:44 นาที ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า
"ทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่น เรามีการสอบถามหลายคนถามผมว่า แล้วศิลปหัตถกรรมยังจะมีการจัดอยู่มั้ย ไม่รู้ใครไปเขียนข่าวว่า เลขาฯจะเลิก ผมบอกว่าไม่ได้เลิก แต่ปรับรูปแบบใหม่ ใช้คำใหม่นะปรับรูปแบบใหม่ เพราะนโยบายรัฐมนตรีต้องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง
ท่านทราบไหมครับว่า ทั้งศิลปหัตกรรม และการแข่งขันหลายอย่างเนี่ย เพิ่มภาระทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง เราฟัง ผมเข้าไปในโซเชียลเข้าไปดูตาม TikTok ต่างๆ แค่เราทำแบบสอบถาม ไปถามเนี่ย พบว่าประชาชนหลายคน เขาบอกว่าก็เห็นด้วยว่าควรจะปรับรูปแบบนะ ไม่ใช่เลิกนะ ผมเลิกนี่ ผมเป็นเรื่องแน่ เพราะว่าครูกลุ่มหนึ่งก็ต้องการมีการแข่งขัน ถ้างั้นปรับวิธีการแข่งขันศิลปหัตถกรรม
แต่แรกต้องการเอานักเรียน นักศึกษาที่มีความสามารถด้านเย็บปักถักร้อย แกะสลัก วาดภาพ ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ออกมาแสดงให้เห็นว่าเรามีดีด้านอย่างนี้ อย่างนี้ แล้วก็ออกมาโชว์ต่อสาธารณชน มีการแสดงนิทรรศการต่างๆ
แต่ตอนหลังมาเพิ่มการแข่งขันเป็น สามสี่ร้อยรายการ และในหลักสูตรที่เรียนอยู่ 8 กลุ่มสาระ + 1 แต่ไม่รู้เรามีความสามารถพิเศษมากครับ สามารถไปแตกรายการแข่งขันได้ตั้งสองร้อยสามร้อยรายการ แล้วแต่ละรายการนี่ เด็กก็ต้องไปฝึก ถามว่าเด็กเหล่านี้เราก็ต้องส่งเสริม แต่ถ้าเราไปมุ่งอยู่แต่เรื่องนี้
ท่านเชื่อไหมผู้ปกครองคนหนึ่งส่งเข้ามาในไลน์ผมเลยว่า เห็นด้วยมาก เพราะว่าบางโรงเรียนที่ลูกผมเรียนอยู่เนี่ย พอถึงฤดูที่จะไปแข่งขันนี่ทั้งเดือนเลยครับ ซ้อม ฝึก ไม่ได้เรียน ไม่ได้สอน บางโรงเรียนเวลาจะส่งไปในระดับภาคก็ไปทอดผ้าป่า ไปเก็บเงินกัน เขตที่เป็นเจ้าภาพก็ต้องไปขายเสื้อ ขายหมดทุกอย่าง ยกเว้นเหลือ ผอ.เขตไม่ขาย เพื่อเอาเงินมาเป็นเจ้าภาพจัดงาน อันเนี่ยระดับภาค แล้วก็เป็นภาระ ซึ่งรัฐมนตรีท่านทราบ ท่านก็เลยให้แนวทางไปคิดสิว่า จะลดอย่างไร ลดภาระอย่างไร
แล้ว ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาแทนที่จะได้ไปดูว่า โรงเรียนของตัวเองมีปัญหาอะไร ครูอยู่กันเป็นอย่างไร ขาดครู ขาดเอกอะไร ควรจะไปช่วยเค้าอย่างไร active learning ที่เราทำอยู่มันเดินไปถึงไหน แต่กลายเป็นเราต้องไปทำอยู่บางเรื่อง..."
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: Edu Guide News