“ธนุ” แย้มคอนเทนต์ใส่ในแท็บเล็ตทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“ธนุ” แย้มคอนเทนต์ใส่ในแท็บเล็ตทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน“ธนุ” แย้มคอนเทนต์ใส่ในแท็บเล็ตทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน วางอนาคตสำรวจความพร้อมก่อนแจกแท็บเล็ต
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ มีนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ตนั้น ขณะนี้นโยบายดังกล่าว พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้กำชับว่าจะต้องจัดทำแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะบรรจุไว้ในแท็บเล็ตก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วางแผนดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว โดยแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้น จะอยู่ในแผนงบประมาณปี 2567 เพื่อให้ผู้ใช้งานเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตามนโยบายของ รมว.ศธ. ส่วนการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ต อยู่ที่ทิศทางที่ รมว.ศึกษาธิการ จะมอบหมายต่อไป
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ย้ำว่าจะต้องเป็นแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่ใช้จริงเป็นรูปแบบที่ทันสมัย พร้อมกับตอบโจทย์การใช้งานและพัฒนาผู้เรียน ซึ่งคาดว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จะต้องมีแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ปัญหาตอนนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังล่าช้าอยู่ อาจทำให้ระยะเวลาการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องขยับไปหลังเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะ สพฐ. จะจัดสรรกระบวนการให้เรียบร้อยที่สุด ส่วนการใช้แพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้นจะเริ่มในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน อย่างไรก็ตามในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นจะต้องไปยึดติดการนำแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้มาบรรจุอยู่ในแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่มีอุปกรณ์สื่อสารเทคโนโลยีอยู่แล้ว เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น มือถือแทบทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้นเราอาจทำแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้มาใส่ไว้ในระบบคลังข้อมูลและให้ผู้เรียนเลือกนำมาใช้งาน ซึ่งในอนาคตอาจไม่จำเป็นจะต้องแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็กทุกคน แต่อาจสำรวจความพร้อมว่าใครมีและไม่มีอุปกรณ์บ้าง
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13:55 น.