ผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 10/2566
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 10/2566พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 10/2566 มี ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการการประชุม โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
1. ให้การรับรองปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) ของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 2 แห่ง
รวมจำนวน 10 หลักสูตร ที่คุรุสภาให้การรับรองของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นไปตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด
ซึ่งผ่านการประเมินจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว
1.1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 9 หลักสูตร ประกอบด้วย ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) และปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรม เทคโนโลยีและวิทยาการเรียนรู้ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) จำนวน 8 กลุ่มวิชาเฉพาะ
1.2 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ ปริญญา
ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทย (หลักสูตรใหม่ พุทธศักราช 2565)
2. เห็นชอบการรับรองผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงาน
และการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 8/2566 ตามมติคณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบ
และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในการประชุมครั้งที่ 10/2566
เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 และเห็นชอบ ร่าง ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 8/2566 จำนวน 1,273 คน โดยเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา ประกอบด้วย 1) หลักสูตรปริญญาตรี
ทางการศึกษา จำนวน 404 คน 2) หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 647 คน และ 3) หลักสูตรปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 222 คน และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. เห็นชอบหลักการในการดำเนินการทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding - MOU)
ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กับสภาสถาบันพัฒนาครูเฮย์หลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมอบหลักการให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้พิจารณารายละเอียด ลงนามความร่วมมือ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. เห็นชอบการอุทธรณ์คำวินิจฉัยการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ให้สิทธิแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยชี้ขาดกำหนดระดับโทษของการประพฤติผิดจรรยาบรรณฯ ตามมาตรา 54 (2) (3) (4) หรือ (5) ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยฯ ต่อคณะกรรมการคุรุสภา ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยฯ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูฯ จำนวน 1 ราย ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนด้านจรรยาบรรณผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ลับ)
5. รับทราบการให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นสถานศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน
และการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ตามหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรองของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 2 สถาบัน รวมจำนวน 9 คน ดังนี้
5.1 มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 3 แห่ง จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
ศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดสงขลา จำนวน 3 คน จังหวัดปัตตานี จำนวน 3 คน และจังหวัดสตูล จำนวน 1 คน
5.2 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ
ประจำจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 คน
6. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำสารานุกรมการศึกษาร่วมสมัย
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เฉพาะ
ทางด้านวิชาชีพทางการศึกษา จัดทำเป็นหนังสือสารานุกรมวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยดำเนินการต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
7. รับทราบรายงานการดำเนินงานโครงการแลกเปลี่ยนครูในภูมิภาคอาเซียน โดยความร่วมมือกับสมาคมครู
รัฐบรูไนดารุสซาลาม (Brunei Malay Teachers’ Association: BMTA) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างครูไทย
และครูบรูไนดารุสซาลาม
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนครูในภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ประจำปี พ.ศ. 2566 กำหนดระยะเวลาแลกเปลี่ยนในแต่ละประเทศ จำนวน 2 สัปดาห์ และได้ดำเนินการคัดเลือกครูแลกเปลี่ยนจากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้คัดเลือกครูและสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 คน
พร้อมทั้งต้อนรับและจัดกิจกรรมสำหรับครูแลกเปลี่ยนจากประเทศบรูไนฯ จำนวน 2 คน ซึ่งเดินทางมาแลกเปลี่ยนระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 9 ตุลาคม 2566 มีการจัดปฐมนิเทศก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนวัดเชิงเลน
(นครใจราษฎร์) และ โรงเรียนบ้านดงเกตุ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2
เยี่ยมชมสถานที่สำคัญระหว่างการเข้าร่วมโครงการ รับฟังรายงานผลการเข้าร่วมโครงการ ปัจฉิมนิเทศและเดินทางกลับประเทศบรูไนฯ
8. รับทราบรายงานผลการเข้าร่วมประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 37 (The 37th ASEAN Council of Teachers Convention) หัวข้อ “Leading the Future of Education” ระหว่างวันที่ 15 - 17 กันยายน 2566
ณ โรงแรมดิ เอเวอร์ลี่ ปูตราจายา (The Everly Putrajaya) กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยประกอบด้วยประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหพันธรัฐมาเลเซีย (เจ้าภาพจัดประชุมฯ) และสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
ในการประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้แทนรับมอบธงสภาครูอาเซียนในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมฯ ในปี 2567
9. รับทราบการดำเนินงานจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากับหน่วยงานอื่น
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวนทั้งสิ้น 4 ฉบับ ดังนี้
1) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนางานเข้าสู่ระบบดิจิทัล ระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
กับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
2) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ Strengthening Teachers Education Program (STEP)
4 ฝ่าย ระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาวิทยาลัย
จำนวน 12 แห่ง
3) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และร่วมขับเคลื่อนสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูระหว่างสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กับ กองทุน
เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
4) บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่าง มหาวิทยาลัยบูรพา และ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
10. รับทราบข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในรูปแบบรายงานสรุปผลในภาพรวม (Dash Board) ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อสามารถดูข้อมูลของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ทางการศึกษาที่เข้าใจง่าย และช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ อีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา วันที่ 27 ตุลาคม 2566