เล็งของบ 2,700 ล้าน ลุยแจก “แท็บเล็ต”นักเรียน-ครู เริ่มใช้ปี67
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“บิ๊กสพฐ.”เผยเตรียมของบ 2,700 ล้าน ลุยแจก “แท็บเล็ต”นักเรียน-ครู เริ่มใช้ปี67‘บิ๊กสพฐ.’เผย‘แท็บเล็ต’นักเรียน-ครูเริ่มใช้ปี67 เตรียมของบกว่า 2,700 ล้าน เริ่มทดลองใช้ก่อนกับนักเรียน ม.ปลายในโรงเรียนคุณภาพ 245 แห่ง
9 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายแจกแท็บเล็ตนักเรียนและครูนั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ในปี 2566 เพราะโดยหลักการจะต้องจัดทำคอนเทนต์ให้แล้วเสร็จก่อนจึงค่อยดำเนินการจัดหาแท็บเล็ต ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจัดทำคอนเทนต์ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ หรือเลือกทำเฉพาะกลุ่มสาระที่จำเป็น เพราะในช่วงการเริ่มต้น อาจจะต้องเป็นการทดลองใช้ เพื่อดูความคุ้มค่า ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้จริง ลดภาระนักเรียน และภาระครูได้จริงหรือไม่
“สำหรับการจัดทำคอนเทนต์นั้น เบื้องต้น สพฐ. เตรียมของบประมาณ กว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนของการจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เมื่อจัดทำคอนเทนต์เรียบร้อยแล้ว จะให้ครู นักเรียน ศึกษานิเทศก์ทดลองใช้ ก่อนจะประเมินผลการดำเนินงาน เบื้องต้นจะเริ่มทดลองใช้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะถ้าเริ่มใช้กับเด็กที่เรียนในช่วงชั้นต่ำกว่านั้น อาจมีปัญหาในเรื่องความพร้อม นโยบายการแจกแท็บเล็ตถือเป็นนโยบายที่ดี เป็นการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อว่า สำหรับการทดลองใช้นั้นในปี2567 อาจจะเริ่มต้นจาก 1 เขตพื้นที่ฯ 1 โรงเรียนคุณภาพ หรือ 245 โรงเรียนก่อน เพราะคงไม่สามารถเทงบดำเนินการพร้อมกันทั้ง 3 หมื่นกว่าโรงเรียนทั่วประเทศได้ จากนั้นจึงค่อยๆขยายไปที่ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ตั้งเป้าขยายปีละ 200 โรงเรียน คาดว่าจะดำเนินการได้ครบกว่า 800 อำเภอทั่วประเทศภายใน 4 ปี ตามนโยบาย รมว.ศธ. การดำเนินการแจกแท็บเล็ตนักเรียน ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณ ซึ่งต้องใช้เงินสูงมาก
“การดำเนินการครั้งนี้ นอกจากเป็นการนำเทคโนโลยีมามีส่วนช่วยในการจัดการศึกษาแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะหากเรามีโรงเรียนคุณภาพครบทุกอำเภอ ก็จะช่วยลดภาระผู้ปกครอง ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนในตัวเมืองจากนี้จะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งจัดทำแอคชั่นแพลน หรือแผนปฏิบัติงาน เน้นใน 2 ประเด็นหลัก คือ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ดูว่าอะไรบ้างที่เป็นภาระครูอยู่ขณะนี้ เพื่อคืนเวลาของครูไปทำหน้าที่การสอนให้นักเรียนมากขึ้น ปรับเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สะดวก ไม่ให้เป็นภาระ” เลขาธิการกพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 14:15 น.