“เสมา1” ถกขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” นัดแรก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“เสมา1” ถกขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” นัดแรก“เสมา 1” ถกขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” นัดแรก พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของ ศธ.
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ของ ศธ. ครั้งที่ 1 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลัก และข้าราชการ เข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมหารือ แสดงความคิดเห็น และพิจารณาวางกรอบการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น โดยที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของ ศธ. ที่มี รมว.ศธ. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู่แผนการดำเนินงานตามเป้าหมาย โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา มาเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทราศุ นายมีชัย วีระไวทยะ และ รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ ด้วย ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายทุกข้อ
“กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนถึงปัญหาและให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น ปัญหาภาระงานอื่นที่กระทบต่อการสอนของครู การขาดแคลนบุคลากร งบประมาณสนับสนุนการศึกษา และขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อที่ทันสมัย และสาธารณูปโภคที่จำเป็น การประเมินวิทยฐานะล่าช้า ปัญหาด้านคุณภาพและความคุ้มค่าของการแจก Tablet ส่วนข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายฯ เสนอว่าควรเป็นนโยบายที่ดำเนินการแล้วไม่เป็นภาระด้านเอกสารและไม่เป็นภาระของครู ควรยึดความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล เน้นส่งเสริมการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กมีความรู้ มีความสุขในการเรียนและมีทักษะอาชีพ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และควรพัฒนาคุณภาพชีวิต สวัสดิการและขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายสิริพงศ์ กล่าวและว่า ในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล รมว.ศธ.ได้มอบฝ่ายเลขานุการร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ของ ศธ. พร้อมทั้งนั่งเป็นประธานฯกำกับดูแลเรื่องนี้เอง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันแรงงานทักษะสูงใน 8 สาขา ได้แก่ สาขาอาหาร โดยปรับหลักสูตรอาชีพระยะสั้น สาขาเกม ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนในการสร้างเกมที่ตรงกับความต้องการของตลาด สาขาแฟชั่น สาขาศิลปะ และสาขาการออกแบบ ส่งเสริมการเรียนการสอนออกแบบแฟชั่นตามอัตลักษณ์ความเป็นไทย ถูกใจตลาดโลก สาขาดนตรีและสาขากีฬา ส่งเสริมการสอนเพื่อสร้างพื้นฐานดนตรีและกีฬาในระดับมัธยมศึกษาให้เข้มข้น และสาขาหนังสือ ปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดและสถาบันหนังสือทั่วประเทศ ในรูปแบใหม่ที่ทันสมัย และตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 16:14 น.