สพฐ. ยก พิจิตร โรงเรียนต้นแบบ Active Learning
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ. ยก พิจิตร โรงเรียนต้นแบบ Active Learning ผสานแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นเป็นห้องเรียนรวมวิชาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ติดตามการต่อยอดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น กับหลักสูตรสถานศึกษา ณ โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิจิตร (สพม.พิจิตร) โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผอ.สพม.พิจิตร ผอ.สพป.พิจิตร เขต 1 และ 2 ผอ.สพม.กำแพงเพชร ผอ.สพป.กำแพงเพชร เขต 1 และ 2 ผอ.สพม.นครสวรรค์ ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 1, 2 และ 3 รอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ รวมถึงคณะผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์หนุนเสริม ครู และนักเรียน จากโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 12 โรง และผู้อำนวยการโรงเรียนจากทุกสังกัดในจังหวัดพิจิตร จำนวน 130 โรง พร้อมด้วยคณะทำงาน One team สพฐ. ได้แก่ รอง ผอ.สวก. รอง ผอ.สทศ. ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาระบบประกันคุณภาพ สวก. นักวิชาการศึกษา สวก. และทีมวิชาการ รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร. เกศทิพย์ ศุภวานิช) รวมผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 300 คน
การลงพื้นที่เป็นการติดตามการดำเนินการต่อยอดและถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ Active learning ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา โดยที่ผ่านมา สำนักงานเขตพื้นที่ฯได้ทำงานร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นมาใช้บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างหลากหลายและมีความหมาย โดยประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในการค้นหารวบรวมแหล่งเรียนรู้ ทั้งศาสนสถาน แหล่งเรียนรู้อาชีพ ปราชญ์ชุมชน ฯลฯ และได้ขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดทำฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ (online database) เว็บเพจ “ร้อยเรียงเรื่องเล่าเมืองชาละวัน” ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 พร้อมทั้งได้จัดกลุ่มแหล่งเรียนรู้ภายในจังหวัดพิจิตรเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. แหล่งเรียนรู้ศิลปกรรมท้องถิ่น 2. แหล่งเรียนรู้ทางเศรษฐกิจ และ 3. แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
โดยกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิชาการของสถานศึกษาต้นแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกกับการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น และการให้คำแนะนำ เติมเต็ม และมอบขวัญกำลังใจแก่สถานศึกษาต้นแบบฯ จำนวน 12 โรง ณ โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม จ.พิจิตร รวมถึงการลงพื้นที่ถอดประสบการณ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุกกับการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นย่านชุมชนเก่าบางมูลนาก จากสถานีรถไฟพิจิตร ถึงสถานีรถไฟบางมูลนาก โดยระหว่างเส้นทางได้นำนักเรียนทำกิจกรรมตามแหล่งเรียนรู้ 5 แหล่ง ได้แก่ สถานีรถไฟพิจิตร สถานีรถไฟบางมูลนาก ศาลเจ้าพ่อแก้ว ตลาดฟื้นอดีตบางขี้นาก และพิพิธภัณฑ์บางมูลนาก นักเรียนได้ศึกษาแหล่งเรียนรู้พร้อมสร้างสรรค์ชิ้นงาน vlog จากองค์ความรู้ของตนเอง และมีการถ่ายทำวีดิทัศน์การจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้ห้องเรียนรวม ณ แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น สถานีรถไฟพิจิตร-วังกรด อีกด้วย
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมงานในวันนี้ รู้สึกชื่นชมความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ครูผู้สอน ชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา เป็น Key Success สำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ มีเนื้อหาครบถ้วน สมบูรณ์ บ่งชี้ให้เห็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน มีการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และกิจกรรมที่หลากหลายในการจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นความสนใจ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน เน้นการลงมือปฏิบัติ กระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์จากการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ชุมชน เรียกได้ว่า “เรียนน้อยแต่ได้มาก ยั่งยืน และมีความสุข” นอกจากนี้ การลงพื้นที่ถอดประสบการณ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุกกับการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นย่านชุมชนเก่าบางมูลนาก ร่วมกับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนพิจิตรพิทยาคม พบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้น สนใจ และร่วมทำกิจกรรมอย่างมีความสุข มีชีวิตชีวา มีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเอง และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยกิจกรรมมีความน่าสนใจ สอดแทรกองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการ และการสร้างเจตคติที่ดีให้กับผู้เรียน
“ทั้งนี้ ควรมีการต่อยอดการเรียนรู้ของผู้เรียนไปสู่ระดับคิดสร้างสรรค์ผลงานที่ตรงกับความสนใจของตนเอง โดยครูและสถานศึกษาทำหน้าที่ในการโค้ชชิ่ง ชี้แนะ สร้างเส้นทางและจัดหาสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ สื่อ/อุปกรณ์ ที่จะช่วยให้นักเรียนบรรลุจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ของตนเองได้ เช่น การประสานความร่วมมือทางวิชาการกับผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ เมื่อนักเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ถ่ายทอดให้กับนักเรียน จะถูกหยิบมาใช้อย่างมีความหมาย นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ได้เรียนรู้ และคิดต่อยอดสร้างผลงานที่มีมูลค่าตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ภายใต้ความรู้พื้นฐานที่ได้รับตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด รวมทั้งการใช้เวลาเรียนที่เหลือจากการจัดการเรียนรู้บูรณาการฯ มาเป็นช่วงเวลาสำหรับให้นักเรียนได้สร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง หรือต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานในรูปแบบการทำ CSR Project ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 กันยายน 2566 เวลา 19:01 น.