ส.บ.ม.ท.ให้กำลังใจ “เพิ่มพูน” ดันงานการศึกษาชาติ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ส.บ.ม.ท.ให้กำลังใจ “เพิ่มพูน” ดันงานการศึกษาชาติดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในรัฐบาล “เศรษฐา 1” นั้น ก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอสเปคบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็น รมว.ศธ. ไปแล้วว่าอยากได้นักการศึกษาที่รู้และเข้าใจงานการศึกษาเข้ามานั่งบริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่เมื่อไม่ใช่นักการศึกษาที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาโดยตรงก็ไม่เป็นไร เพราะเชื่อว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน เองก็เป็นคนดี มีความสามารถ และเป็นถึงผู้บริหารของ สตช.มาก่อน จึงนำความรู้และประสบการณ์จากการบริหารงาน สตช.มาบริหารงาน ศธ.ได้เช่นกัน โดยการดึงที่ปรึกษาและทีมงานที่เป็นนักการศึกษามืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยงานได้ โดยตนรวมทั้งชาว สบมท.พร้อมให้กำลังใจในการผลักดันงานการศึกษาชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
นายก ส.บ.ม.ท. กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากฝากให้ รมว.ศธ.คนใหม่ได้ช่วยผลักดันอย่างเร่งด่วนมีด้วยกันหลายเรื่อง 1.อยากให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนของครูลง เช่น การที่ครูต้องเข้าไปรับผิดชอบในเรื่องการเงินและพัสดุ ทั้งนี้ควรมีบุคลากรผู้สนับสนุนการสอนให้กับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่นี้โดยตรง รวมไปถึงตำแหน่งนักการภารโรงด้วย 2. การส่งเสริมขวัญและกำลังใจให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะเรื่องวิทยฐานะ รูปแบบของการประเมินควรจะมีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ เช่น ครูในโรงเรียนที่อยู่ที่สูงห่างไกล หรืออยู่ตามเกาะแก่ง ก็ควรจะแตกต่างจากครูที่อยู่ในตัวเมือง แต่ทุกวันนี้รูปแบบการประเมินกลับออกแบบมาให้ทุกคนประเมินเหมือนกันหมด 3.การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู แม้ในช่วงที่ผ่านมา ศธ.จะมีความพยายามแก้ไข แต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก ซี่งเรื่องนี้ประเด็นอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่พยายามนำเรื่องของสวัสดิการเข้ามาใช้กับครู แต่กลายเป็นกับดักดอกเบี้ยแพงกว่าปกติที่ครูเข้าไปติดกับ ดังนั้นจึงต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยครูให้ได้
ดร.ณรินทร์ กล่าวต่อไปว่า 4.ปัญหาสถานศึกษาขาดแคลนครู ทุกวันนี้เรามีอัตราเหลือ ไม่สามารถหาคนเข้ามาบรรจุในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ประมาณ 8,000-10,000 อัตรา แม้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีการเปิดสอบทั้ง ว 14 , ว16 และ ว 17 ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถหาบุคคลได้เท่ากับจำนวนที่รับ ทำให้แต่ละปีมีตัวเลขของอัตราที่ว่าสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ตนเห็นว่าการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุดก็คือ ควรผลักดันกลุ่มครูอัตราจ้าง และครูในตำแหน่งพนักงานราชการเข้าสู่ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยอาจจะใช้วิธีการประเมินแทนการสอบ เชื่อว่าจะช่วยเติมครูเข้าสู่ตำแหน่งที่ว่างอยู่ได้ทั้งหมด 5.ควรให้อิสระโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงมีอำนาจในการบริหารงานอย่างคล่องตัวในรูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคล และ 6.ควรแยกงานในส่วนที่เกี่ยวกับมัธยมศึกษาออกจาก สพฐ.มาเป็นกรม เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน เหมือนกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า สพฐ.ใหญ่มาก การบริหารงานจึงดูเทอะทะไม่คล่องตัว แต่หากทำไม่ได้ ก็ควรผลักดันให้มีสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กแฟนเพจ At HeaR วันที่ 4 กันยายน 2566