‘เกศทิพย์’แจงสพฐ.สอน วิชาครบตามหลักสูตร หนุนเด็กคิดวิเคราะห์เป็น
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
‘เกศทิพย์’แจงสพฐ.สอน วิชาครบตามหลักสูตร หนุนเด็กคิดวิเคราะห์เป็นสพฐ. ย้ำ สอน 4 วิชาครบถ้วนตามหลักสูตร เน้นปรับประยุกต์-ใช้แหล่งเรียนรู้ชุมชน หนุนเด็กคิดวิเคราะห์ลงมือปฏิบัติต่อยอดเสริมคุณลักษณะ
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากประเด็นของสังคมที่มีการตั้งคำถามถึงการเรียนการสอนใน 4 วิชา คือ 1.วิชาพระพุทธศาสนา 2.วิชาหน้าที่พลเมือง 3.วิชาศีลธรรม และ 4.วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่ายังมีการเรียนการสอนหรือไม่นั้น ตนขอให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆเพื่อความเข้าใจที่ครบถ้วน ดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ใช้หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1- ม.6) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน และมีการปรับปรุงตัวชี้วัด ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเนื้อหาคงเดิม แต่ปรับความสอดคล้องในกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
โดยมีการจัดการเรียนการสอนเนื้อหา ใน 4 วิชาดังกล่าวอย่างครบถ้วนมาโดยตลอดมุ่งเน้นให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรทั้ง 3 ด้าน มาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้จัดให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน และยังมีการกำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม และสาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม โดยกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-6 จำนวน 120 ชั่วโมงต่อปี ระดับชั้น ม.1-3 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี และระดับชั้น ม.4-6 จำนวน 320 ชั่วโมง รวม 3 ปี (สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญโดยกำหนดนโยบายที่เน้นให้จัดรายวิชาหน้าที่พลเมือง เพื่อความเป็นพลเมืองดีของชาติไทย และในปี พ.ศ. 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้ประกาศจุดเน้น 8+1 ในการจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระฯ และ 1 รายวิชาประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนเน้นวิธีสอนให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ ผ่านการจัดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านเทคโนโลยี เน้นการใช้แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน เป็นการปรับกิจกรรมเพิ่มเติมให้มีความน่าสนใจสำหรับนักเรียนในปัจจุบัน
.
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจาก 4 วิชาไม่ได้หายไปไหนแล้ว เรายังมีการเน้นวิธีการสอนและกระบวนการเรียนรู้ Active Learning เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ไม่ต้องเรียนแบบท่องจำ สนองต่อความสนใจและศักยภาพของนักเรียน เช่น การต่อยอด Active Learning ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน ร่วมกับเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทำให้นักเรียนได้เห็นความตระหนัก ได้คิด ลงมือปฏิบัติ และเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า เพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง เป็นแหล่งบ่มเพาะให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรชาติได้อีกด้วย
.
“ดังนั้น รายวิชา 4 รายวิชานี้ ไม่ได้หายไปจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด แต่ยิ่งเพิ่มการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายในการคิด วิเคราะห์ ถกแถลง แสวงหาความรู้ และนำไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของร่องรอยหลักฐานที่เป็นเหตุ เป็นผล และสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เชิงบวก เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 สิงหาคม 2566 เวลา 14:58 น.