สพฐ. หนุนเด็กรักษ์ภาษาไทย ประยุกต์ใช้การเรียน-ทำงาน-ชีวิตประจำวัน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ. หนุนเด็กรักษ์ภาษาไทย ประยุกต์ใช้การเรียน-ทำงาน-ชีวิตประจำวันสพฐ. หนุนเด็กรักษ์ภาษาไทย ปรับประยุกต์ใช้ทั้งการเรียน-ทำงาน-ชีวิตประจำวัน
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ.ให้เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันทักษะภาษาไทยระดับประเทศ (รอบชิงชนะเลิศ) โครงการรักษ์ภาษาไทย เนื่องในสัปดาห์วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2566 (29 กรกฎาคม ของทุกปี) โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา ร่วมในพิธีเปิด ผ่านระบบ Zoom Meeting ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 และครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน รวมจำนวน 180 คน
ดร.เกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเวทีผลงานทักษะภาษาไทย ระดับประเทศ (รอบชิงชนะเลิศ) เนื่องในสัปดาห์วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2566 และนำไปสู่การพัฒนาทักษะภาษาไทยของนักเรียน เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร การส่งผ่านความรู้ความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึก และความคิด ซึ่งทำให้เกิดสังคมที่ครบมิติ อีกทั้งการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในชาติตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทย โดยวางรากฐานการฝึกทักษะภาษาไทยตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปใช้ค้นคว้าหาความรู้และปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และการคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่สำคัญยังถือเป็นการสืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมและประเพณีให้คงอยู่สืบไป
“โดยสถาบันภาษาไทย สวก. สพฐ. ได้จัดการแข่งขันทักษะภาษาไทยโครงการรักษ์ภาษาไทย เนื่องในสัปดาห์วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2566 เพื่อเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของนักเรียนในสังกัด สพฐ. และสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ทุกภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนางานภาษาไทย ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาและการต่อยอดให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ เป็นบันไดที่สำคัญนำไปพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นไปตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการด้วย ทั้งนี้ ขอชื่นชมคณะผู้จัดและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ทุกท่านล้วนเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถในด้านภาษาไทย สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2566 เวลา 09:05 น.