“อัมพร” ติวเข้มสพท.ทั่วประเทศ แนะทบทวนสอบครูผู้ช่วยใช้รูปแบบก.พ.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“อัมพร” ติวเข้มสพท.ทั่วประเทศ แนะทบทวนสอบครูผู้ช่วยใช้รูปแบบก.พ.“อัมพร” ติวเข้ม สพท. ทั่วประเทศ เร่งสางนโยบายการศึกษาและงบประมาณ เผย เตรียมถก ก.ค.ศ. ทบทวนสอบครูผู้ช่วยใช้รูปแบบ ก.พ. เชื่อได้มาตรฐานกลาง ครูได้บรรจุที่บ้านเกิดตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะวนลูปแบบเดิม
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการสรุปนโยบายและการดำเนินงานด้านต่างๆ ก่อนจะหมดปีงบประมาณ 2566 ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีเรื่องใดบ้างที่เราจะต้องสะสางให้แล้วเสร็จ เนื่องจากเขตพื้นที่จะเป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และการใช้งบประมาณให้เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้ โดยตนต้องการกำกับและติดตามงานก่อนจะหมดปีงบประมาณ เพื่อให้นโยบายสำคัญด้านต่างๆ ของ สพฐ. โดยเฉพาะระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมุ่งตรงสู่ครูและผู้เรียนอย่างแท้จริง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เรื่องการเปิดภาคเรียนใหม่ในปีการศึกษา 2566 ตนได้มอบนโยบายก่อนเปิดภาคเรียนให้แก่เขตพื้นที่ทุกแห่งได้รับทราบไปแล้วว่า ในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนแห่งการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อสรุปเก็บข้อมูลว่ามีเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาจำนวนเท่าไหร่ และได้รับการช่วยเหลือแล้วอย่างไรบ้าง โดยมีการตามกลับมาเข้ามาสู่ระบบการเรียนแล้วจำนวนกี่คน รวมถึงการวางแผนอัตรากำลังของครูและผู้บริหารสถานศึกษาจะบริหารจัดการอย่างไร เมื่อโรงเรียนมีเด็กลดลง แต่อัตราครูยังมีอยู่เท่าเดิม ซึ่งจะรวมไปถึงการบริหารจัดการงบประมาณที่จัดสรรลงไปเบิกจ่ายได้ทันตามคำร้องหรือไม่ อีกทั้งนโยบายด้านวิชาการที่ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยระบบ Active Learning ไอซีที การเสริมการเรียนรู้จากภาวะถดถอยนั้นควรจะเติมเต็มระบบเหล่านี้ให้แก่เด็กกี่วิธีและกี่กลุ่ม และแต่ละกลุ่มจะได้รับการดูแลอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นที่เขตพื้นที่จะต้องไปบริหารจัดการและขับเคลื่อนต่อไป
“ส่วนประเด็นเสียงสะท้อนเรื่องการสอบครูผู้ช่วยที่ไม่ได้มีมาตรฐานกลางในการออกข้อสอบนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ออกข้อสอบได้วิเคราะห์ข้อสอบว่าผู้ที่สอบไม่ผ่านมาจากสาเหตุใด ข้อสอบมีความยากในวิชาไหนจนทำให้เด็กสอบไม่ได้ เพราะก็เป็นผู้สมัครกลุ่มเดิมที่มาสมัครสอบแต่ทำไมสอบไม่ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป หรือคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) อาจจะต้องไปทบทวนปรับเงื่อนไขการออกข้อสอบหรือไม่ เพื่อให้ครูมีโอกาสได้บรรจุครูมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากเป็นไปได้ผมอยากเสนอให้การจัดสอบครูผู้ช่วยทำเหมือนกับการสอบราชการแบบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยให้มีการสอบภาค ก และ ข สอบขึ้นบัญชีไว้ปีละ 2 ครั้ง ส่วนภาค ค หากเขตพื้นที่ไหนเปิดรับสมัครก็ไปยื่นตามเขตพื้นที่นั้น ซึ่งถือว่ามีความเป็นธรรมและโปร่งใสด้วย ซึ่งผู้สมัครอยากจะเป็นครูที่ไหนก็ไปยื่นสมัครบรรจุไว้ที่นั่น และจะทำให้ครูได้บรรจุในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง เพราะขณะนี้เรื่องระบบการโยกย้ายก็ยังคอนโทรลไม่ได้ ดังนั้นหากการสอบยังไม่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ก็จะวนลูปอยู่แบบนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการถอดบทเรียนมาแล้ว การสอบจากส่วนกลาง สพฐ. ก็ทำมาแล้ว ซึ่งทำมาหมดทุกระบบแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาเช่นเดิมอีก ดังนั้นผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจะต้องมาปรับระบบใหม่ เพื่อให้คุ้มค่าต่อการสอบบรรจุครูผู้ช่วยมากที่สุด” นายอัมพร กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เวลา 11:27 น.