สนามสอบครูผู้ช่วย ปี 66 ภาพรวมเรียบร้อย พบปัญหาข้อสอบไม่มีคำตอบวิชาคณิตศาสตร์ “ตรีนุช” สั่งตรวจสอบด่วน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สนามสอบครูผู้ช่วย ปี 66 ภาพรวมเรียบร้อย พบปัญหาข้อสอบไม่มีคำตอบวิชาคณิตศาสตร์ “ตรีนุช” สั่งตรวจสอบด่วนรมว.ศธ. ตรวจสนามสอบครูผู้ช่วย สพฐ. ปี 66 มีสิทธิสอบ 169,595 คน บรรจุได้ 7,813 อัตรา พบปัญหาข้อสอบไม่มีคำตอบวิชาคณิตศาสตร์ "ตรีนุช" สั่งตรวจสอบด่วน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ณ สนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพฯ
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ภาพรวมการสอบแข่งขันฯตำแหน่งครูผู้ช่วย ของ สพฐ. ในปี 2566 นี้ มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตบริหารงานการศึกษาพิเศษ รวม 205 แห่ง เปิดสอบ 63 กลุ่มวิชา มีตำแหน่งว่างบรรจุได้ 7,813 อัตรา โดยทั้งประเทศมีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 172,026 คน ผ่านการตรวจคุณสมบัติมีสิทธิสอบ จำนวน 169,595 คน สอบใน 262 สนามสอบทั่วประเทศ โดยกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอก ที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา จำนวน 21,525 คน สังคมศึกษา 19,757 คน ภาษาอังกฤษ 16,719 คน คณิตศาสตร์ 16,116 คน และพลศึกษา 15,773 คน ส่วนกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอกที่ไม่มีผู้สมัครสอบ คือ ภาษาอังกฤษธุรกิจ เขตที่เปิดสอบคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 อัตรา และกลุ่มวิชาอรรถบำบัด เขตที่เปิดสอบ คือ สศศ.จำนวน 5 อัตรา
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบ ที่สนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี พบว่า การจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถจัดการสอบได้เป็นอย่างดี ทางสนามสอบให้ผู้เข้าสอบสวมใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือ หน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาที่อยู่ในบริเวณสนามสอบ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและมีเครื่องตรวจจับโลหะมือถือ ซึ่งที่สนามสอบนี้ มีผู้มีสิทธิสอบจำนวน 1,689 คน 16 กลุ่มวิชา ใช้ห้องสอบทั้งหมด 68 ห้อง และมีห้องสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ห้อง ในจำนวนผู้มีสิทธิสอบในสนามสอบนี้ มีผู้พิการร่วมสอบด้วย จำนวน 57 คน แบ่งเป็น พิการทางสายตา 3 คน ทางร่างกาย 4 คน ทางหู 49 คน และสติปัญญา 1 คน โดยผู้พิการทางสายตา สนามสอบได้เตรียมเจ้าหน้าที่อ่านข้อสอบ-พร้อมฝนกระดาษคำตอบให้, ผู้ที่สายตาเลือนราง ผู้เข้าสอบบางคนจะอ่านเอง โดยใช้แว่นขยาย และจะฝนกระดาษเอง ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน จะทำข้อสอบเองและฝนกระดาษเอง โดยจัดให้มีกรรมการคุมสอบที่เป็นภาษามือไว้คอยประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียด สำหรับผู้พิการทางร่างกาย จะอ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบเอง
“ในการสอบบรรจุข้าราชการครู กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยในการสอบแข่งขันฯ ของ สพฐ. ครั้งนี้ ให้มหาวิทยาลัย 10 แห่ง เป็นผู้ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประเมินผล เพื่อไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ สพฐ. ได้มีมาตรการในการป้องกันการทุจริต ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ ซึ่งในการเข้าห้องสอบนอกจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ ห้ามนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) นาฬิกาเชื่อมต่อมือถือ (Smartwatch) วิทยุติดตามตัว วิทยุสื่อสาร รวมทั้งหนังสือ บันทึกข้อความ เอกสารหรือกระดาษสิ่งพิมพ์อื่นใด หรือ วัสดุอุปกรณ์อื่น เช่น กระเป๋าสะพาย เครื่องคำนวณ อุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณได้ เครื่องบันทึกภาพ เครื่องบันทึกเสียง เข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด และหากพบว่าผู้ใดนำเข้าห้องสอบจะถือว่ามีเจตนากระทำการทุจริต ในการสอบและต้องยุติการสอบทันที” รมว.ศธ. กล่าวและว่า ทั้งนี้จากการสอบถามผู้เข้าสอบพบว่า ข้อสอบในวิชาคณิตศาสตร์ มีบางข้อที่ไม่มีคำตอบ และพิมพ์ข้อสอบผิดไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง ซึ่งคนมอบหมายให้ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ไปตรวจสอบกับมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่เป็นผู้จัดทำข้อสอบแล้ว และหากเกิดข้อผิดพลาดจริง ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบในข้อที่ผิดนั้นไป
สำหรับการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2566 ได้กำหนดจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ โดยสอบ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 24 มิถุนายน 2566 และสอบ ภาค ข มาตรฐานความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 25 มิถุนายน 2566 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก และ ภาค ข ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เพื่อเข้ารับการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา จากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ตามวันและเวลาที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตบริหารงานการศึกษาพิเศษ กำหนด โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ให้ใช้ได้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 13:59 น.