“ตรีนุช” ชู “คอนเน็กซ์ อีดี” โครงการระดับชาติต้องไปต่อ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“ตรีนุช” ชู “คอนเน็กซ์ อีดี” โครงการระดับชาติต้องไปต่อเมื่อวันที่ 12 พ.ค. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) จัดการประชุมสามัญประจำปี 2566 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาไทย โดยมี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ ตลอดจนคณะผู้บริหารจากภาคเอกชน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมหารือ
โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า โครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนประชารัฐ ในปี 2559 ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จำนวน 43 องค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ซึ่งตนขอขอบคุณ พลเอก ดาว์พงษ์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ และองค์กรภาคเอกชน ที่ได้ร่วมทุ่มเทพลังกาย พลังใจ รวมพลังกับภาครัฐ ขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษา ช่วยให้การศึกษาไทยก้าวหน้า อย่างรอบด้าน ทั่วถึง ครอบคลุม ทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และในโอกาสนี้ ขอร่วมแสดงความยินดีกับมูลนิธิฯ ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รางวัล “ค่าของแผ่นดิน” ประเภท โครงการด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเป็นต้นแบบแห่งการสร้างสรรค์ความดี
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานของโครงการ Connext ED ถือเป็นตัวอย่างโครงการระดับชาติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ของคำว่า “การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน” ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว ช่วยให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพ
ทุกพื้นที่และเป็นสถานศึกษาที่ปลอดภัย เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันการดำเนินงานต่างๆ ของโครงการอย่างเต็มกำลัง ได้แก่ การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลพื้นฐาน ที่นำไปสู่การวางแผนการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ หรือ School Management System (SMS) และ ระบบ School Grading ซึ่ง ปัจจุบัน โรงเรียน Connext ED ทั้ง 5,567 แห่ง ได้ใช้ระบบนี้แล้ว และ สพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาและวางแผนการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลของ สพฐ. กับระบบ SMS ให้เป็นฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพในอนาคต, มีการเติมเต็มอุปกรณ์ ICT Notebook for Education โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้นักเรียนยากจนพิเศษ 1.6 ล้านคน เข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุน ICT Talent หรือ ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการเข้าไปสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสอนให้แก่ครู โดยมี ICT talent จาก สพฐ. 1,526 คน และจากภาคเอกชน อีก 200 คน ร่วมดูแลโรงเรียน Connext ED กว่า 4,100 โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเติมเต็มทักษะการสอนแก่ครู เช่น เทคนิคการสอนแบบ Active Learning ทักษะการโค้ชชิ่ง ทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ Digital skill ซึ่งเป็นอีกองค์ความรู้ที่ครูได้รับจากการดำเนินโครงการนี้
“จากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. จึงได้ถอดบทเรียน เป็นโมเดลการพัฒนาโรงเรียน Connext ED ที่เป็นผลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17 โมเดล และจะนำโมเดลความร่วมมือนี้ ไปขยายผล ประยุกต์ใช้กับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า โครงการที่สร้างโอกาสการเรียนรู้แก่เด็กไทยทุกคน ยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเห็นผลชัดเจน เช่น โครงการ Connext ED นี้ จะได้รับการสานต่อ ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 17:42 น.