ข่าวเด่นตลอดปีมังกรทอง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ตลอดปี 2555 มีประเด็นฮอตหลายเรื่องที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด บ้างก็มีผลกระทบต่อบุตรหลานในการศึกษา บ้างมีผลต่อสิทธิการเข้าถึงการรักษา บ้างก็เรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องใด ก็มีแง่มุมให้ขบคิด** “บดินทรเดชา” พ่นพิษ รับนร.ป่วน
ปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับเด็ก ม.4 ไฟเขียวให้โรงเรียนสอบคัดเลือกนักเรียนภายนอก 20% ทำให้หลายโรงเรียนคัดเลือกเด็กเก่าที่จบ ม.3 แต่ผลการเรียนไม่สู้ดีออก เพื่อเอาที่นั่งไปรับเด็กใหม่แทน แต่มาเกิดเรื่องเกิดราวในกรณีโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีเด็ก ม.3 เดิมออกกว่า 100 คนด้วยเหตุผลว่าคะแนนไม่ถึงคะแนนอันดับสุดท้ายของเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน ม.4 ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสว่าเก้าอี้ใหม่มีการเรียกรับเงินแปะเจี๊ยะ เป็นเหตุให้ผู้ปกครองนักเรียน ม.3 บุกมาประท้วงที่ ศธ.หนักเข้าก็เปิดฉากประท้วงอดข้าวบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล บางรายขู่จะเผาตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีการเผาหุ่น นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ในเวลานั้น โดยแกนนำภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งชาติ (ภตช.) จน นายสุชาติ ตั้งทนายความฟ้องหมิ่นประมาท แต่กลุ่มผู้ปกครองก็ไม่หยุดเดินสายออกร้องเรียนตามสื่อต่างๆ ไปจนกระทั่งบุกยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อขอให้มาช่วยเหลือ สุดท้าย สพฐ.ใช้หนทางออกมาตรการพิเศษเปิดภาคบ่ายเพื่อรับนักเรียนของบดิทรเดชาฯ จำนวนหนึ่งที่คะแนนผ่านเกณฑ์เข้าเรียน โดยให้โรงเรียนอีก 4 แห่ง คือ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศสวนกุหลาบวิทยาลัยปทุมธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา และ โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จ.อุดรธานี ใช้วิธีการนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องราวต่าง ๆ น่าจะจบด้วยดี แต่ผ่านไป 1 เทอมพ่อแม่นักเรียนภาคบ่ายโรงเรียนบดินทรเดชาฯ 36 คนก็ออกมาประท้วงให้รับเด็กเป็นภาคปกติ ซึ่งทาง สพฐ.และโรงเรียนได้หาหนทางออกให้เปลี่ยนเวลาเรียนจากภาคบ่ายมาเป็นภาคเช้า ส่วนคนที่ผลการเรียนดีและสามารถขอพาสชั้นมาเรียนรวมห้องเรียนปกติได้ก็ดำเนินการให้
** ดีเอสไอ ฟัน 2 นักการเมือง 2 ขรก. โกง SP2
ยืดเยื้อมานานกรณีทุจริตครุภัณฑ์อาชีวศึกษา ในงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และยิ่งกลายเป็นความวุ่นวายอย่างยิ่งขึ้นในสมัย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.ศึกษาธิการ โดยเฉพาะกรณีซุกผลสอบคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ที่นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธาน ทั้งที่เจ้าตัวตั้งขึ้นเองให้ตรวจสอบกรณีมีหนังสือร้องเรียนกล่าวหา นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อดีตเลขาธิการ กอศ. ว่าหาผลประโยชน์ให้พรรคพวกและบกพร่องในหน้าที่ทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง แม้จะมีการสอบถามอย่างต่อเนื่องก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามและท้ายที่สุดก็บอกว่าได้สรุปผลสอบไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ขณะที่ นายศักดา คงเพชร อดีตรมช.ศึกษาธิการ ในฐานะกำกับดูแล สอศ. ก็รุกหนักในเรื่องนี้ทั้งลงพื้นที่ในวิทยาลัยต่าง และมีการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง 4 ชุดและอาศัยช่องครั้งนายสุชาติ เดินทางไปต่างประเทศตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง น.ส.ศศิธารา ด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งก็รับลูกให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ ขณะที่ นายสุชาติ ก็ไม่สนใจกางปีกป้อง น.ส.ศศิธารา จนถึงขั้นยอมหักกับ นายประแสง มงคลศิริ ที่ดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ในเวลานั้นและ นายประแสง ตัดสินใจไขก็อกลาออกไปซึ่งก็เป็นการจากด้วยไม่ดี อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ดีเอสไอ ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและสำนวนการสอบสวนครบถ้วน ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ดีเอสไอได้สรุปเบื้องต้นว่าการทุจริตดังกล่าวมีอดีตนักการเมืองและข้าราชการประจำของ สอศ.ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนเอี่ยวด้วย คือ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายเจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และ นายบำรุง อร่ามเรือง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ขณะที่ น.ส.ศศิธารา ถูกกันเป็นพยานแต่หากสอบสวนแล้วพบความผิดก็ต้องถูกลงโทษเช่นกัน
**รัฐทุ่ม 3 พันล.แจกแท็บเล็ต ป.1
หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเคยขายฝันไว้ว่าอยากให้เด็กนักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์ใช้ ก็มาเป็นจริงได้ในสมัยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องสาว ที่ประกาศครึกโครมตั้งแต่หาเสียงว่าจะดำเนินการนโยบาย One Tablet Pc Per Child แจกนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 กว่า 8 แสนคนทุกสังกัดทั่วประเทศ ซึ่งที่สุดแล้วก็เข็นจนสำเร็จเป็นรูปร่าง โดยเฉพาะเมื่อนโยบายดังกล่าวเป็นภารกิจใหญ่จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงต่างประเทศ ด้วยเพราะรัฐบาลกำหนดชัดเจนจะให้จัดซื้อจากประเทศจีน ซึ่งเดิมกำหนดจะซื้อในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลจีนบอกว่าไม่สามารถทำได้แต่จะประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือจึงเปลี่ยนเป็นการ MOU และตัดสินใจเลือกบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและซื้อในราคา 2,800 บาทต่อเครื่องรวมค่าขนส่ง เป็นเงินประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อดังกล่าวเป็นล็อตใหญ่ แต่มีการจัดส่งเป็น 4 ล็อต อีกทั้งเป็นปีแรกของการดำเนินการจึงไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ว่าจะจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตถึงมือนักเรียนได้ก่อนเปิดเทอม กว่าแท็บเล็ตจะมีครบจำนวนก็ปาเข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ล่าช้าไปกว่ากำหนด 6 เดือน ขณะที่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาของเครื่อง เช่น คำเตือนบนอแดปเตอร์ ไม่มีระบบตัดไฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ทำตามเป้าดำเนินการแจกแท็บเล็ตต่อในปี 2556 โดยปีนี้จะแจกนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพิ่มด้วย รวมทั้งหมดเป็น 1.6 ล้านเครื่อง แต่เปลี่ยนการจัดซื้อด้วยวิธีการประมูลภายในประเทศแทน ให้โอกาสผู้ประกอบการในไทยและในต่างประเทศร่วมประมูลได้ และเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ที่มีมา 1 ปีทำให้รัฐบาลจัดซื้อแท็บเล็ตในปีนี่จะสำเร็จลุล่วงและถึงมือนักเรียนทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 แน่นอน
** “ม็อบพยาบาล” ชนวนแบ่งเค้กบรรจุ ขรก.
ตลอดปี 2555 จะเห็นว่า เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. ได้ออกมาทวงถามความคืบหน้าจาก สธ.และรัฐบาลหลายรอบเรื่องการบรรจุข้าราชการ ภายหลังรัฐบาลมีมติให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดกรอบอัตรากำลังใหม่ เนื่องจากเกรงว่าเรื่องจะเงียบหาย เพราะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร สธ. โดยช่วงหลังได้ยกระดับการเรียกร้องให้บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวที่ค้างบรรจุตั้งแต่ปี 2549 จำนวน 17,000 ตำแหน่งให้เป็นข้าราชการทั้งหมดในครั้งเดียว หากไม่ได้จะนัดหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค.2556
อย่างไรก็ตาม สธ.และรัฐบาลได้มีคำตอบที่ค่อนข้างน่าพอใจให้แก่พยาบาลลูกจ้างฯ เนื่องจาก ครม.มีมติเห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราว สธ. 21 สาขาวิชาชีพให้เป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตราจนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอบรรจุจะปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสิทธิสวัสดิการไม่แพ้ข้าราชการ ทำให้การเรียกร้องที่ทำท่าจะทวีความรุนแรงลดระดับลงไป
คงต้องมาลุ้นกันว่าปี 56 จะมีลูกจ้างฯวิชาชีพกลุ่มอื่นออกมาเรียกร้องเพิ่มหรือไม่ เพราะเมื่อมีกลุ่มวิชาชีพหนึ่งได้รับการบรรจุ กลุ่มวิชาชีพอื่นก็ต้องได้รับบ้าง และที่สำคัญ สธ.จะจัดสรรการบรรจุอย่างไรให้ครอบคลุมและเป็นธรรมแก่ทุกวิชาชีพ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
**“FTAไทย-อียู” ศึก รัฐ VS นักวิชาการ
มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีท่าทีรีบเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่มีกระแสข่าวว่าแอบนัดพบ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่นำทีม อย.และกรมทรัพย์สินทางปัญญามาหารือ เพื่อเตี๊ยมให้ยอมรับทริปส์พลัส และรับการเยียวยาหากเกิดผลกระทบจากการทำ FTA ไทย-อียู เนื่องจากต้องรีบให้คำตอบกับผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหภาพยุโรป
ประเด็นคือรัฐบาลเร่งรีบเจรจาไปหรือไม่ ทั้งที่นักวิชาการจำนวนมากต่างออกมาคัดค้าน เพราะร่างกรอบเจรจาไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคม สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิด ม.190 ที่สำคัญแม้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อนำเสนอร่างฯ แต่กลับไม่มีการใช้ข้อคิดเห็นหรือข้อห่วงใยประเด็นต่างๆ มาประกอบ ทั้งที่กลุ่ม FTA Watch ระบุว่า มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานรัฐถึง 4 ชิ้นรายงานตรงกันว่า การทำ FTA ไทย-อียู จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ
โดยมีข้อบ่งชี้คือ การรับข้อตกลงทริปส์พลัสจะทำให้เกิดการผูกขาดด้านยา เพราะมีการยืดเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น ประชาชนเข้าถึงยาได้ยาก นอกจากนี้ ยังเอื้อให้ต่างชาติสามารถฟ้องล้มนโยบายสาธารณะหรือให้จ่ายเงินชดเชยได้ โดยเฉพาะกฎหมายเหล้าและบุหรี่ ที่ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย แม้นายกฯจะให้นโยบายชัดเจนว่า การต่อรองต้องไม่ให้ประเทศเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวที่หลายฝ่ายกังวล และถ้าต่อรองแล้วกลุ่มประเทศคู่ค้าไม่ยอมก็จะไม่คุยต่อ ก็ยังไม่อาจเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักวิชาการและสังคมได้ เพราะท่าทีของรัฐบาลไม่ได้ส่อไปตามคำพูด
ดังนั้น สธ.ในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพคนไทย และมีข้อมูลผลดีผลเสียจากการทำ FTA ไทย-อียู มากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง ควรแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการปกป้องสุขภาพของคนไทย หากเป็นความจริงว่าการทำ FTA ไทย-อียู จะส่งผลเสียต่อคนไทยและประเทศมากกว่าผลดี
** ฉันหวง! ฉันมาทวงสิทธิ ขรก.คืน
เป็นที่รู้กันว่า กองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการมีการเบิกค่ายารักษาพยาบาลสูงสุดในบรรดา 3 กองทุนสุขภาพ โดยเฉพาะการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ ซึ่งในปี 2554 มีมูลค่ามากถึง 40,000 ล้านบาท กรมบัญชีกลางจึงพยายามหาทางควบคุมปริมาณการใช้ยา โดยออกประกาศ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่าย 2.การห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต และ 3.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิข้าราชการต้องลงทะเบียนระบบเบิกจ่ายตรง 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล
ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มออกมาคัดค้านและขอให้กรมบัญชีกลางทบทวนมาตรการดังกล่าว ทั้ง สพศท. ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แพทยสภา หรือแม้แต่ สธ. เพราะเห็นว่าจะทำให้ผู้ป่วยไปกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ขัดกับนโยบายของ สธ. และเป็นการลิดรอนจำกัดสิทธิแพทย์และผู้ป่วยทำให้เสียโอกาสในการรักษา เป็นต้น ถึงขั้นมีการขู่ฟ้องร้องจนเป็นข่าวใหญ่
สุดท้าย ในการประชุม คกก.กำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ฯ จึงมีมติแก้ปัญหาดังกล่าวโดยกำหนดให้สามารถเบิกจ่ายยากลูโคซามีนฯได้ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ ให้ยกเลิกประกาศ 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง และให้เพิ่มเติมข้อกำหนดอนุญาตใช้ยานอกบัญชีฯได้ตามข้อบ่งชี้ทางวิชาชีพ ทำให้เรื่องที่ดูท่าจะทวีความรุนแรงแผ่วลงไป เป็นอันปิดฉากการทวงสิทธิของข้าราชการ!
แต่ที่น่าจับตาคือการควบคุมยา 9 กลุ่มที่มีปริมาณการใช้สูงของสิทธิข้าราชการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการควบคุมยากลูโคซามีนฯแล้ว และยาตัวต่อไปที่จ่อขึ้นเขียงถูกควบคุมคือ ยาลดไขมัน รวมไปถึงยาลดการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง ยาลดความดันโลหิต ยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ยาป้องกันกระดูกพรุน และยารักษามะเร็ง เพราะหากคุมยาทั้ง 9 กลุ่มให้มีการใช้อย่างสมเหตุสมผลจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาถึง 5,000 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปในปี 2556
** ซูโดฯ สัญลักษณ์คอร์รัปชันในวงการยา
กลายเป็นเรื่องสะเทือนวงการสาธารณสุขไทยเลยก็ว่าได้ กับการแอบลักลอบขนยาซูโดอีเฟดรีนออกจากคลังยาโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรงของผู้ปฏิบัติงานด้านยาเลยทีเดียว เพราะแค่ลักลอบนำยาออกจากโรงพยาบาลก็ถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ที่สำคัญซูโดฯ ยังสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า และเมธแอมเฟตามีนหรือยาไอซ์ได้ด้วย ซึ่งตั้งแต่หลัง มี.ค.เป็นต้นมา จะพบข่าวการจับกุมการลักลอบขนซูโดฯ ตามแนวชายแดนได้อยู่เรื่อยๆ
ส่วนที่มาของการจับตาการทุจริตยาซูโดฯ เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2555 ที่มีการพบซองยาซูโดฯถูกทิ้งเป็นจำนวนมากอยู่กลางหมู่บ้านร้างที่เชียงใหม่ จึงมีการตรวจสอบโรงพยาบาลแต่ละแห่งว่าจำนวนการสั่งและส่งยาซูโดฯ ตรงกับข้อมูลของ อย.หรือไม่ หากมีพิรุธจึงตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งสุดท้ายก็สามารถสาวไปถึงโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีการทุจริต
ทั้งนี้ คกก.สอบสวนฯได้พิจารณาลงโทษตามความผิด ทว่า การลงโทษยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย.ควรหามาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันด้านยาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
** สัญญาจ้างบีทีเอสทำพิษ
พลันที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าของกทม.ในวงเงิน 187,790 ล้านบาทเป็นเวลา 30 ปีโดยผ่านทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในฐานะผู้บริหารรระบบไปเมื่อช่วงกลางปีที่่ผ่านมาก็ทำให้กทม.กลับมาเป็นข่าวคึกโครมอีกครั้งเพราะดูเหมือนเป็นการเร่งรีบต่อสัญญาทั้งที่เหลือสัมปทานอีก 17 ปี ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ของชายที่ชื่อ “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” จึงคล้ายเป็นการทิ้งทวนก่อนลงจากเก้าอี้ แถมเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และทีี่สำคัญด้วยวงเงินว่าจ้างกว่า 1.8 ล้านบาทนับว่าแพงมหาโหดแม้จะบอกว่าช่วยกทม.ประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 6,000 ล้านบาทก็ตาม !!
แต่ที่จะต้องเป็นหนังเรื่องยาวให้ดูกันไปอีกนานๆ ว่าเรื่องนี้ฉากจบจะเป็นเช่นไรเพราะเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)โดดเข้ามาจับเรื่องนี้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.)แถมเจ้ากรมอย่าง “ธาริต เพ็งดิษฐ์” ออกมาแถลงหลังประชุมว่ากคพ.มีมติรับเซ็นสัญญาจ้างบีทีเอสซีเป็นคดีพิเศษก็เจอหมัดสวนจากกทม.ทันทีจาก “ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าฯกทม. และที่ปรึกษาส่วนตัว ออกมาประสานเสียงกันว่าจากข้อมูลเชิงลึก กคพ.ยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษแต่ให้อำนาจสอบสวนได้หากพบข้าราชการการเมืองเกี่ยวข้องให้ยื่นไม้ต่อคณะกรรมการป.ป.ช.
** สนามฟุตซอล...ช้ำระกำทรวง
เว้นวรรคจากเรื่องบีทีเอสมาได้ไม่เท่าไหร่ ครานี้ชื่อเสีย(ง)กทม.ดังไกลสู่สากลเมื่อสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา (หนองจอก) ที่กทม.ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศึกฟาดแข้งฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ในเดือนพฤศจิกายน ที่ประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพครั้งแรกก็ต้องชอกช้ำหลังสหพันธุ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าประกาศชัดห้ามใช้สนามฟุตซอลแห่งนี้เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กทม.พยายามทุกวิถีทางที่จะก่อสร้างให้สำเร็จแม้จะไม่เพอร์เฟ็คแต่ก็ให้แข่งขันได้แถมยังทำตามทุกข้อที่ฟีฟ่าเสนอแต่ท้ายที่สุดฟีฟ่าก็ลงแส้ปิดฉากสนามฟุตซอลกทม.เล่นเอา “สุขุมพันธุ์” ต้องเปิดโต๊ะแถลงแจง ณ ที่เกิดเหตุร่ายยาวข้อเท็จจริง !!
จะโทษดิน โทษฟ้าก็คงจะเป็นไปไม่ได้เพราะแม้จะต้องประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ปลายปี 2554 ถึงต้นปี 2555 ทำให้การก่อสร้างต้องชะงัก ทั้งยังติดขัดอุปสรรคเรื่องงบประมาณเพราะแม้รัฐบาลยุคพรรคประชาธิปัตย์จะอนุมัติกรอบเงินอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ 1,239 ล้านบาทแต่ก็หาได้เป็นตัวเงินมาถึงกทม.ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ ร้อนถึงกทม.ต้องแปลงเงินงบประมาณหาเงินมาก่อสร้าง ไม่เพียงศึกงบประมาณแล้วยังต้องเผชิญศึกพื้นสนามที่กทม.สั่งนำเข้าจากอเมริกาตามมาตรฐานของฟีฟ่าไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 แต่เพิ่งมาได้เอาอีกไม่กี่วันก่อนการแข่งขัน ขณะที่สนามอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมากสั่งไปทีหลังกลับได้ก่อน !?
สุดท้ายสนามฟุตซอล บางกอก อารีนา คงเป็นได้แต่เพียงแค่ชื่อเรียก หาได้ถูกใช้เป็นสนามแข่งขันไม่ แต่ผู้ว่าฯ กทม.ที่ชื่อ “สุขุมพันธุ์” คงได้ร้อนๆหนาวๆ เพราะอาจมีผลพวงฟาดงวงยาวถึงศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. !!
** ไม่-รื้อตึกศาลฏีกา
การรื้อศาลฏีกา แล้วสร้างตึกทรงไทย ศึกนี้กำลังบานปลายสร้างความขัดแย้งระหว่างศาลฎีกา กับ กรมศิลปากร ที่ฝากศาลต้องการรื้อสร้างใหม่ โดยเหตุผลว่า ครม.ไฟเขียวให้สร้างเมื่อปี 2530 ขณะที่ กรมศิลปากร ชี้แจงไปยังศาลฎีกาอาคาร 2 หลังถือเป็นโบราณสถานโดยตัวเอง ซึ่งโบราณสถานด้วยคุณค่าเป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์และเป็นโบราณสถานชัดเจน เทียบเท่าโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน ต้องได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ) เพราะฉะนั้นการรื้อ การทำลาย ตกแต่งต่อเติมต้องขออนุญาตกรมศิลปากร หากใครฝ่าฝืนกรณีโบราณสถานที่ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท สิ่งที่อยากเห็นขอให้ 2 ฝ่าย ควรหันหน้าคุยกันดีๆ ไม่ควรงัดข้อกฎหมาย จะยิ่งทำให้มองหน้ากันไม่ติดเสียเปล่าๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก --> เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 31 ธันวาคม 2555