ส.บ.ม.ท.ห่วงเกณฑ์สอบครูผู้ช่วยภาค ค สร้างความเหลื่อมล้ำ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม
ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์
ก-
ก+
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ห่วงเกณฑ์สอบครูผู้ช่วยภาค ค สร้างความเหลื่อมล้ำ กระทบนักศึกษาครูจบใหม่ จี้ ก.ค.ศ.รีบปรับปรุงให้เกิดความเสมอภาค
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กำหนดให้มีการสอบข้อเขียนภาค ก (ความรู้ความสามารถทั่วไป) ภาค ข (มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ) ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินภาค ก และ ภาค ข จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค ซึ่งเป็นการประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอน โดยคะแนนในการประเมินภาค ค มีค่าคะแนนมากถึง 100 คะแนน นั้น โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นว่าหากพิจารณาจากตัวชี้วัดการประเมิน ภาค ค นั้นอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ คือ ตัวชี้วัดในภาค ค เป็นการให้อำนาจดุลพินิจกับกรรมการประเมินสูงมาก ซึ่งการที่ให้อำนาจดุลพินิจคณะกรรมการประเมินสูงมากขนาดนี้ถือว่าเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายปกครอง อาจถูกมองว่าเป็นนิติกรรมที่เปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
นายก ส.บ.ม.ท.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดความสามารถด้านการสอน เช่น การวิเคราะห์หลักสูตรและการออกแบบและการวางแผนจัดการเรียนรู้ ทักษะวิธีการสอนที่เหมาะสม การใช้สื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวชี้วัดที่เป็นการกีดกันผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการสอนอย่างแท้จริง โดยการกำหนดตัวชี้วัดในภาค ค ในส่วนที่เป็นการกีดกันและส่งผลให้ผู้ที่บรรจุใหม่ไม่ได้รับคะแนนการประเมินถือได้ว่าเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักความเสมอภาค มีความลำเอียง ใช้ความแตกต่างของบุคคลมาเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันแก่บุคคลในสถานะทางกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้กระทำได้ จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหลักเกณฑ์ที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกทั้งหากปล่อยให้มีการประเมินตามเกณฑ์ในภาค ค ในทุกตัวชี้วัด จะต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะประเมินเสร็จย่อมส่งผลให้โรงเรียนได้รับครูล่าช้าโดยไม่จำเป็น
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563 เวลา 14.45 น.