LASTEST NEWS

28 ก.ย. 2567สั่งพักราชการ ผอ.สพม.สระแก้ว ปมประกาศผลสอบ ‘ครูเบญ’ ผิดพลาด 28 ก.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 28 ก.ย. 2567สพป.เชียงใหม่ เขต 2 เผยอัตราว่างเรียกบรรจุครูผู้ช่วย 10 อัตรา 28 ก.ย. 2567 สพป.อุดรธานี เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 3 อัตรา - รายงานตัว 7 ตุลาคม 2567 28 ก.ย. 2567สพป.อุบลราชธานี เขต 1 ประกาศผลพิจารณาย้าย ข้าราชการครูฯ สายงานบริหารสถานศึกษา ประจำปี พ.ศ.2567 28 ก.ย. 2567สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 รับสมัครพนักงานราชการครู 3 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2567 28 ก.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 27 ก.ย. 2567กรุงเทพมหานคร เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 183 อัตรา รายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ 17 ต.ค.2567 26 ก.ย. 2567ก.ค.ศ.เห็นชอบ ปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา ต้องเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ 26 ก.ย. 2567ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567

“ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

  • 31 ก.ค. 2562 เวลา 20:35 น.
  • 24,841
“ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

“ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

 “ข้าราชการ” คือ บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของประเทศไทย ผู้ที่เป็น ”ข้าราชการ” ถือว่ามี “อาชีพรับราชการ” ซึ่งเป็นอาชีพ ๆ หนึ่ง ในประเทศไทยและเกือบทุกประเทศทั่วโลก ถึงเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ดี มีเกียรติในสังคม และที่สำคัญได้ทำหน้าที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน  


“ข้าราชการ” ในประเทศไทย มีหลายประเภท ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการรัฐสภา ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งข้าราชการแต่ละประเภทก็จะได้รับสิทธิและประโยชน์จากทางราชการไปในแนวเดียวกัน  


สิทธิและประโยชน์ตอบแทนจากทางราชการมีอะไรบ้าง? 


“ข้าราชการ” ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำแหน่ง ประเภทใด หรือทำงานที่ส่วนราชการใด ก็จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตอบแทนจากทางราชการมากมาย ทั้งในระหว่างรับราชการอยู่ เมื่อออกจากราชการแล้ว และการช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต ได้แก่ 


1. สิทธิและประโยชน์ตอบแทนระหว่างรับราชการ ได้แก่  เงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทนตำแหน่ง เงินค่าเช่าบ้าน เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร เงินค่าทดแทน การสงเคราะห์เนื่องจากได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการ สิทธิเกี่ยวกับการลา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรืออายุราชการทวีคูณ เป็นต้น 


2. สิทธิและประโยชน์ตอบแทนในการปฏิบัติราชการพิเศษหรือเพิ่มขึ้นจากปกติได้แก่  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและการฝึกอบรม ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง  ค่าเช่าที่พัก  ค่าพาหนะ เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เงินตอบแทนการเป็นกรรมการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ เป็นต้น 


3. สิทธิและประโยชน์ตอบแทนเมื่อพ้นจากราชการแล้ว ได้แก่ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร หรือเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นต้น 


4.สวัสดิการและสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ได้แก่ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินบำเหน็จตกทอด การขอพระราชทานเพลิงศพ การขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เป็นต้น  


สิทธิและประโยชน์ตอบแทนอะไรบ้างเมื่อพ้นจากราชการกรณีเกษียณอายุราชการ? 


การพ้นจากราชการของข้าราชการมีหลายกรณี เช่น ลาออก ปลดออก ให้ออก แต่ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการพ้นจากราชการกรณีเกษียณอายุราชการเท่านั้น มีประเด็นสำคัญดังนี้  


1. กฎหมายใดที่กำหนดการเกษียณอายุราชการของข้าราชการเอาไว้? 


“เจ้าหน้าที่ภาครัฐ” ทุกประเภทตำแหน่ง มีกฎหมายกำหนดการเกษียณอายุราชการไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับ “ข้าราชการ”การเกษียณอายุราชการ กำหนดไว้ใน มาตรา 19 ของพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ที่กำหนดว่า “ข้าราชการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ข้าราชการนั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” และในกฎหมายของการบริหารงานบุคคลของข้าราชการแต่ละประเภทก็จะกำหนดไว้อีกชั้นหนึ่งถึงการเกษียณอายุราชการ ตัวอย่างเช่น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดไว้ใน มาตรา 107(2) ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547และแก้ไขเพิ่มเติมว่า“ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาออกจากราชการเมื่อพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ดังนั้น “ข้าราชการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วต้องเป็นอันพ้นจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น” (ผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2559 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2489- วันที่ 1 ตุลาคม 2499 หรือผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2560 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2499- วันที่ 1 ตุลาคม 2500)   


2. ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ที่ผู้รับบำนาญจะได้รับจากราชการมีอะไรบ้าง? 


   ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ คนทั่วไปเรียกว่า “ข้าราชการบำนาญ” ภาษากฎหมายใช้คำว่า “ผู้รับบำนาญ” จะได้รับค่าตอบแทน สิทธิและประโยชน์จากทางราชการหลายอย่าง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ทำงานให้กับราชการจวบจนเกษียณอายุราชการ เพื่อให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดี ดังนี้ 


    2.1 เงินบำเหน็จบำนาญ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. 


         ผู้รับบำนาญ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 หรือ เคยเป็นสมาชิก กบข. แต่กลับมารับบำเหน็จบำนาญ(UNDO) ตามพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557 มีสิทธิและสามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ ตามสูตรคำนวณดังนี้  


        - บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ (รับก้อนเดียว)  


        - บำนาญ  = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ  (รับรายเดือนไปจนตาย) 
                                                50 

       โดยเวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็น 1 ปี เช่น 25 ปี 6 เดือน จะคิดเป็น 26 ปี  25 ปี 5 เดือน คิดเป็น 25 ปี (ไม่มีทศนิยม)   คลิกอ่านข้อเขียนเวลาทวีคูณประโยชน์ต่อข้าราชการครูแค่ไหนอย่างไร  


   2.2 เงินบำเหน็จบำนาญ และเงินจาก กบข.สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก กบข.ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญ และเงินก้อนจาก กบข.และผลตอบแทน ดังนี้  


     1) เงินบำเหน็จบำนาญ ตามสูตรคำนวณดังนี้  


        - บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย X เวลาราชการ (รับก้อนเดียว)  


        - บำนาญ  = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x เวลาราชการ (รับรายเดือนไปจนตาย)      
                                                    50 

        มีเงื่อนไขคือเงินบำนาญได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และเวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีรวมทั้งเศษของปีด้วยในการนับเศษของปี ให้นับ 12 เดือนเป็น 1 ปี และ360 วันเป็น 1 ปี เช่น  25 ปี 6 เดือน คิดเป็น 25.5 ปี เวลาราชการที่จะนำไปคำนวณ คือ 25.5  คลิกอ่านข้อเขียนเวลาทวีคูณประโยชน์ต่อข้าราชการครูแค่ไหนอย่างไร 

     2) เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินชดเชย เงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบและเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน  เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ทาง กบข. จัดให้  ซึ่งผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข.สามารถตรวจสอบได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้รับทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อการลดหย่อนภาษีประจำปีของสมาชิกแต่ละคน หรือสอบถามไปโดยตรงที่กองทุน กบข. คลิกเว็บไซต์กองทุน กบข.    


   2.3 เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร 


         พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร  เป็นเงินที่ทางราชการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับบุตรข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการถือว่าเป็นผู้รับบำนาญ จึงเกิดสิทธิ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร สรุปสาระสำคัญดังนี้ 


         1) บุตรของผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับสวัสดิการ หมายถึง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุครบ 3 ปีแต่ไม่เกิน 25 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมและบุตรซึ่งบิดามารดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น บุตรที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินการศึกษาของบุตร ให้ได้ 3 คน 


         2) สถานศึกษาที่บุตรเข้าเรียนและสามารถใช้สิทธิ์ได้ ได้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ (มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย) สถานศึกษาเอกชน (มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ) 


         3) เงินที่จ่ายไปสามารถนำมาใช้สิทธิ์เบิกคืนได้ ได้แก่ เงินบำรุงการศึกษา(สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บ) เงินค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน (สถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บ) ทั้งนี้ตามรายการและจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่าและหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง เช่น ศึกษาในสถานศึกษาของราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง สถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า  ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง หรือ บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง เป็นต้น 


         4) การใช้สิทธิ์เบิกสวัสดิการการศึกษาบุตร ให้ผู้มีสิทธิ์เป็นผู้ใช้ หากกรณีผู้มีสิทธิมีคู่สมรสเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือผู้ได้รับบำนาญ (ที่มีสิทธิ์เหมือนกัน)ให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิขอรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรทุกคนแต่เพียงฝ่ายเดียว 


         5) การยื่นเรื่องขอเบิกเงินสวัสดิการการศึกษาบุตร กรณีสถานศึกษาเก็บเงินเป็นรายภาคเรียน ให้นำหลักฐานยื่นขอเบิกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนของแต่ละภาคหรือกรณีสถานศึกษาเก็บเงินเป็นรายปีการศึกษาต้องยื่นหลักฐานขอเบิกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษานั้น ๆ โดยทำเรื่องและยื่นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ ต่อส่วนราชการสังกัด (ส่วนราชการเดิมตอนที่รับราชการอยู่) 

        6) การรับเงินสวัสดิการการศึกษาบุตร เมื่อส่วนราชการได้รับเรื่อง ตรวจสอบ อนุมัติการเบิกจ่ายแล้ว ส่วนราชการผู้เบิกจะโอนเงินสวัสดิการนี้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ์ตามที่ได้แจ้งไว้ต่อส่วนราชการนั้นๆ  


    2.4 เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 


        พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นเงินที่ทางราชการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับตัวผู้มีสิทธิ์เอง (ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับบำนาญ) และบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ์ ดังนั้นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการถือว่าเป็นผู้รับบำนาญ จึงเกิดสิทธิ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวการรักษาพยาบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้ 


        1) สิทธิในการใช้สวัสดิการ สำหรับตนเอง (ผู้รับบำนาญ) บิดาและมารดา คู่สมรส และบุตร กรณีบุตรนั้นให้ไม่เกิน 3 คน เรียงลำดับก่อนหลัง โดยต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบรรลุนิติภาวะแต่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถที่อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของข้าราชการ (ไม่รวมบุตรบุญธรรมและบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมผู้อื่น)  หากบุตรคนใดตายลงก่อนบรรลุนิติภาวะให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับบุตรคนถัดไปแทนได้ (กรณีบุตรมากกว่า 3 คน) 


       2) ค่ารักษาพยาบาลที่สามารถเบิกได้ ได้แก่ ค่ายา ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือดหรือสารทดแทนค่าน้ำยา หรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซม ค่าบริการทางการแพทย์  ค่าตรวจ  ค่าวิเคราะห์โรค ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าตรวจสุขภาพประจำปี (เบิกได้เฉพาะตนเอง) และอื่นๆ ตามระเบียบที่สามารถเบิกได้ 


       3) อัตราค่ารักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐ เบิกได้เต็มตามที่จ่ายจริงทั้งคนไข้ในและคนไข้นอก  หากเป็นสถานพยาบาลของเอกชน เบิกได้เฉพาะกรณีที่มีอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือมีความจำเป็นรีบด่วน  ซึ่งหากมิได้รับการรักษาพยาบาลในทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต  ทั้งนี้เบิกได้ตามอัตราที่ระเบียบกำหนด 


       4) การยื่นเรื่องขอเบิก กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกสถานพยาบาลของทางราชการ หรือกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนประเภทผู้ป่วยในกรณีประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัย เหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากมิได้รับการรักษาพยาบาลทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือกรณีใช้สิทธิเบิกเพิ่มเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ ให้ยื่นใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลพร้อมหลักฐานขอเบิกต่อส่วนราชการผู้เบิก ภายในระยะเวลา 1 ปีนับถัดจากวันที่ปรากฏในหลักฐานการรับเงิน 


       5) การขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล ให้ยื่นคำขอที่ส่วนราชการผู้เบิก และให้ส่วนราชการจัดทำหนังสือรับรองโดยมอบต้นฉบับให้ผู้ยื่นคำขอเพื่อนำไปมอบให้แก่สถานพยาบาล 


       6) การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลด้วยระบบเบิกจ่ายตรง กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ หรือกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด หรือกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนเป็นครั้งคราวเพราะเหตุสถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งตัวให้แก่สถานพยาบาลของเอกชน ให้สถานพยาบาลเป็นผู้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง 


       7) การขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกสถานพยาบาลของทางราชการ ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ซึ่งเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายตรงแล้ว อาจขอให้สถานพยาบาลเป็นผู้เบิกแทนก็ได้ 


       8) กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ ให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (ตามข้อ5) หรือ ให้สถานพยาบาลขอเลขอนุมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลก็ได้ 

       9) การรับเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล กรณีส่งหลักฐานเบิก เมื่อส่วนราชการได้รับเรื่อง ตรวจสอบ อนุมัติการเบิกจ่ายแล้ว ส่วนราชการผู้เบิกจะโอนเงินสวัสดิการนี้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ์ตามที่ได้แจ้งไว้ต่อส่วนราชการนั้นๆ  


         จะเห็นได้ว่า ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการเป็นผู้รับบำนาญ ยังได้รับสิทธิและประโยชน์จากทางราชการ ทั้งที่เป็นเงินก้อนรับครั้งเดียวจากการรับบำเหน็จ หรือเงินก้อนจากการเป็นสมาชิก กบข. หรือเงินบำนาญที่รับเป็นรายเดือน โดยส่วนราชการจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ได้แจ้งไว้ สวัสดิการบางอย่างยังคงอยู่ เช่น สวัสดิการการศึกษาของบุตรและการรักษาพยาบาล เพราะถือว่าจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตและอนาคตของบุตรหลานของผู้เกษียณ แต่สวัสดิการบางอย่างจะถูกตัดไป ดังนั้นรายได้รวมทั้งเงินบำนาญที่ได้รับรายเดือนนั้นโดยรวมจะน้อยกว่าตอนที่รับราชการอย่างแน่นอน  จะต้องระมัดระวัง วางแผนในการใช้จ่ายเงิน อย่างประหยัดและที่จำเป็นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องดูแล รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม  เพราะถือว่าเป็นผู้สูงอายุ อัตราการเจ็บป่วยจะมีโอกาสมากกว่าตอนเป็นหนุ่ม การบำรุงดูแลสุขภาพจิตใจตนเองก็เป็นเรื่องสำคัญ หมั่นฝึกฝน เข้าวัดปฏิบัติธรรมก็จะทำให้ช่วยได้ และมั่นใจว่าผู้เกษียณคงได้รับการแนะนำ ศึกษาค้นคว้าเพื่อเตรียมการให้การดำรงชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณค่าและเป็นสุข 


บวร  เทศารินทร์  


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sobkroo.com
  • 31 ก.ค. 2562 เวลา 20:35 น.
  • 24,841

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^