ข้อบกพร่องการสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2562
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข้อบกพร่องการสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2562เมื่อ 14 กรกฎาคม 2562 คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) จัดสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) และ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง(ภาค ข.) เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นปี 2562 ทั่วประเทศ ประเภททั่วไป จำนวน 21 ตำแหน่งประเภทวิชาการ จำนวน 22 ตำแหน่ง และตำแหน่งครูผู้ช่วย/ครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 20 ตำแหน่ง มีจำนวนผู้สมัครและมีสิทธิสอบ338,051 คน (พิการตา 4 คนสอบ ณ โรงเรียนเศรษฐเสถียร)พื้นที่ดำเนินการสนามสอบ 27 จังหวัด 17 ศูนย์สอบภาค/เขตสถานที่สอบ 192 แห่ง
กสถ.ชี้แจงแก้ข้อบกพร่องการสอบ
การสอบมีปัญหาทางเทคนิคข้อบกพร่องในการสอบท่ามกลางเสียงวิพากษ์ของผู้เข้าสอบภายหลังสอบเสร็จ ทันทีที่สื่อโซเซียลแพร่ข่าว อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อ.สถ.) และ ประธาน กสถ. ได้ได้ออกประกาศชี้แจงทันทีในวันถัดไป ใน 4 ประเด็น คือ (1) ความคลาดเคลื่อน ในส่วนของ “ข้อแนะนำ” ซึ่งอยู่ที่ปกหน้าของแบบทดสอบ (2)มาตรฐานหรือเนื้อหาของข้อสอบที่มีข่าวว่ามีการใช้หรือ “คัดลอกจากข้อสอบเก่า” ของหน่วยงานอื่น (3) งบประมาณในการสอบแข่งขัน และ (4) หน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้เข้าสอบ และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เฝ้ามองอยู่ ทั้งคนท้องถิ่นเอง รวมองค์กรกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มหมาเฝ้าบ้าน (กลุ่มเอกชนตรวจสอบการทุจริต)ต่างอดไม่ได้ที่จะโต้แย้งคำแก้ข้อกล่าวหา (แก้ตัว) นี้ของสถ.หน่วยงานผู้จัดสอบ เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาในความบกพร่องที่เกิดขึ้น คงพิจารณากันเฉพาะในส่วนที่เป็น“สาระสำคัญของเนื้อหา” (Substantive) เท่านั้น ในเรื่องของความผิดพลาดบกพร่องที่ยอมรับได้ หรือมีเหตุผลความจำเป็นรองรับ ที่เรียกว่า “การผิดตกยกเว้น” หรือ “การผิดหลงเล็กน้อย” ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย เพราะความบกพร่องเพียงเล็กน้อย หากแต่มีเป้าหมายใหญ่เพื่อปกป้องความทุจริตที่อาจเกิดขึ้นถือว่าคุ้มแล้ว แต่ในความมลทินหม่นหมองนั้น คนที่กล่าวหาเขาจะยอมรับได้เพียงใด เพราะ หากเป็นความบกพร่องที่เล็กน้อยก็จริง แต่มีผลกระทบต่อระบบความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ก็ต้องแก้ไขกันที่ระบบ ที่ต้นเหตุต้นทางแห่งปัญหา หรือที่ กสถ. ชี้แจงว่า ทั้งต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำทั้งหมด ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นข้อสงสัย
นอกจากนี้ การกล่าวหาพาดพิงไปถึงหน่วยงานอื่น หรือบุคคลอื่นที่เป็นบุคคลที่สาม (ไม่ได้เกี่ยวข้อง) ก็เป็นประเด็นหนึ่ง เพราะมีการกล่าพาดพิงไปถึง “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”ที่มามีชื่อปรากฏในกระดาษข้อสอบแข่งขันประหนึ่งในฐานะเป็นหน่วยงานที่ออกข้อสอบให้ผู้เข้าสอบ “ยอมรับเงื่อนไขตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้กำหนดไว้”
มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน
การจัดการสอบครั้งนี้ใช้ระบบมอบหมายให้หน่วยงานทางวิชาการ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เป็นผู้ดำเนินการ หรือเรียกว่า “หน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน” ภายใต้การกำกับของกสถ. ตามประกาศ ก.กลาง ที่ได้รับมอบหมายจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในการสอบแข่งขัน และปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์ฯ ที่มีการประมูลจ้างคัดเลือกมหาวิทยาลัยในการออกข้อสอบ ตามที่ กสถ. กำหนด TOR ไว้ตามสัญญา ประเด็นคือ“ความรับผิดชอบ” ในฐานะผู้รับจ้างโดยมิใช่หน่วยงานทางปกครองที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายทางปกครองเพียงใด ค่าปรับตามสัญญาเพียงพอสมดุลกับความเสียหายเชิงระบบหรือไม่ เพราะ กสถ. ไม่สามารถบังคับกำกับมหาวิทยาลัยผู้รับจ้างได้ในฐานะผู้บังคับบัญชา แต่ กสถ. สามารถสั่งการราชการแก่ข้าราชการผู้เกี่ยวข้องได้ เช่น การคัดเลือกคนมาเป็นกรรมการต่าง ๆ ได้เป็นต้น มองอีกมุมว่าเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจให้มาก เพื่อมิให้เกิดความบกพร่องเสียหายได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน คุณภาพ ศรัทธา ความน่าเชื่อถือและภาพพจน์ มิใช่เพียงทำไปให้แล้วเสร็จไปเท่านั้น หากมีประเด็นข้อพิพาทเกิดขึ้นก็ต้องมีผู้ถูกฟ้องคดี และต้องรับผิดทางละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานราชการได้
ยอดกำไรสุทธิจากเงินค่าธรรมเนียมสอบจึงมีเห็นๆ ด้วยยอดจำนวนผู้สมัครสอบเป็นเรือนแสน เช่น การสอบแข่งขันท้องถิ่นประจำปี 2560 มีจำนวนสูงมากถึง 627,975 คน (คิดจากยอดที่สมัครและได้ชำระค่าธรรมเนียมสอบแล้ว) แน่นอนว่า จึงเหลือเงินค่าธรรมเนียนส่งเข้าเป็นงบประมาณแผ่นดินถึงกว่า 50 ล้านบาท แต่ยอดผู้สมัครสอบปี 2562 จำนวน 338,051 คน ด้วยค่าจ้างประมูลจำนวน 92 ล้านบาท ผู้ดำเนินการสอบก็ยังเหลือเงินส่วนต่างจากค่าธรรมเนียมการสอบรายละ 300 บาท คิดเป็นเงินงบประมาณรับทั้งหมดกว่า 101 ล้านบาทเศษ คือยังไงก็ไม่ขาดทุน
รูปแบบการสอบแปรเป็นว่า มีการออกข้อสอบที่ยากขึ้นเพราะมีมาตรฐานสูงมากขึ้น การเลือกล็อกเป้าหมายคนสอบเพื่อไม่ให้สอบได้ง่าย การทุจริตในรูปธรรมจากการสอบยากขึ้นแม้ในขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ภาค ค. ก็ยากขึ้น การปล่อยคะแนนสอบสัมภาษณ์ก็มิได้กระทำได้ เพราะมีเกณฑ์กติกาการให้คะแนนสัมภาษณ์ที่รัดกุมไม่ให้คะแนนของผู้เข้าสอบแตกต่างกันมากกว่าร้อยละ 6-10 เป็นต้น ผลประโยชน์มหาศาลจากค่าธรรมเนียมการสอบย่อมตกแก่ผู้รับจ้างหรือผู้เกี่ยวข้องเป็นธรรมดา จึงอาจมี “การทับซ้อนในผลประโยชน์ทางวิชาการ”ได้
แก้กันที่ปลายเหตุหรือไม่
ด้วยมาตรฐานเดิมที่ อปท. เป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขันที่หย่อนยานไม่ได้แก้ปัญหาเด็กเส้นในการสอบของอปท. คำสั่ง หน. คสช.ที่ 8/2560 จึงมีหลักการสำคัญกำหนดให้ก. กลาง ท้องถิ่น เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน การคัดเลือก การสอบคัดเลือก และการโอนข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ขจัดระบบอุปถัมภ์ที่เป็นปัญหาของการทุจริตออกไป
ข้อเด่นของการอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวค่อนข้างศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขการสอบกดดันผู้เข้าสอบแข่งขัน โดยการตั้งกติกาหลักการที่ขัดต่อระบบคุณธรรมได้ เช่น เงื่อนไขการบรรจุที่ไปลดขั้นเงินเดือนของผู้ที่ขอรับรองบัญชีของผู้ที่เป็นข้าราชการอยู่แล้วไปสอบ เพื่อนำบัญชีที่สอบได้มาปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นในตำแหน่งคนละสายงานคนละแท่ง เป็นต้น โดยลืมนึกไปว่าปัญหาที่แท้จริงก็คือ ตัวพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่ออกแบบไว้ให้อำนาจแก่นายก อปท. มาเกินนั่นเอง การที่ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ จึงเป็นปัญหาที่ถูกหมกดองมานานร่วม 20ปีแล้ว หรือว่า ที่อุตส่าห์แก้กันนี่เป็น “การแก้กันที่ปลายเหตุมิใช่ต้นเหตุ”
ปัญหามิใช่ อปท. มีคนไม่พร้อม แต่ส่วนกลางมีความจริงใจการกระจายอำนาจหรือไม่ต่างหาก การไม่ยอมปฏิวัติโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่โดยการจัดสรรอำนาจระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้พอดีกันนี่ก็คือปัญหา อำนาจหน้าที่ส่วนภูมิภาคส่วนท้องถิ่นและระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเองมันจึงซ้ำซ้อนแย่งงานกันทำอยู่แบบทุกวันนี้จังหวัด อำเภอ อบจ. เทศบาล อบต. ปัจจุบันจึงโยนงานที่หน่วยงานตนไม่ได้ประโยชน์ออกไปให้ระดับล่างให้มากที่สุดอย่างขาดหลักเกณฑ์และกติกาที่ถูกต้อง ชัดเจนว่าเป็นปัญหาของส่วนกลาง มิใช่ปัญหาของการวิ่งเต้นเส้นสายการสอบเพื่อให้ได้รับการบรรจุ ที่เป็นเพียงมายาคติที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะข้าราชการท้องถิ่นมีคุณภาพ มีประสบการณ์ความสามารถทำงานจริง ลงพื้นที่จริง ช่วยเหลือชาวบ้านจริง ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อาจมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่มีความคับแค้นใจมีอคติต่อท้องถิ่น ต่อนักการเมือง ต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่รักเคารพศรัทธาใน อปท.ที่สังกัด ไม่รักบ้านที่อยู่ของตัวเอง ถือเป็นข้อยกเว้น อปท. แต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกันไป แต่เชื่อว่า อปท.เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้ดีที่สุด รากฐานการพัฒนาประเทศชาติมันต้องเริ่มจากจุดเล็กจุดเริ่มต้นที่เรียกว่าท้องถิ่น การทำงานเพื่อแผ่นดิน ด้วยอุดมคติของข้าราชการที่ต้องการพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองให้ยั่งยืนจึงจำเป็น เพราะ “ข้าราชการเป็นหนี้แผ่นดินเกิด ต้องทำงานแทนคุณแผ่นดิน”
ความเชื่อมั่น ศรัทธา และความเชื่อถือต่อสาธารณชน
การแก้ไขอุปถัมภ์โดยเปลี่ยนแก้กันที่วิธีการสอบแข่งขันโดยเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินการสอบ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากที่ให้อปท. ดำเนินการได้ จังหวัดดำเนินการได้ มาให้ส่วนกลาง(ก.กลาง) ดำเนินการหาได้เป็นการแก้ไขปัญหาระบบคุณธรรมระบบอุปถัมภ์ที่ถาวรไม่ เมื่อท้องถิ่นมีปัญญาเปิดสอบเอง แต่มีการทุจริตจึงยึดอำนาจมาให้ส่วนกลาง แต่ครั้นส่วนกลางทำกลับเกิดมีปัญหาอีกอย่าง มันเป็นปัญหาที่ไม่รู้จบมีได้ตลอดเพราะไม่ตรงจุด ที่จริง สถ. ไม่มีเจตนาจะให้ผิดพลาดที่กลัวการทุจริตมากจึงเกิดความบกพร่องที่ไม่ได้ใส่ใจคาดคิด ส่วนหนึ่งเกิดจากมหาวิทยาลัยผู้รับจ้าง ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการกำกับดูแลของ สถ. ผู้ว่าจ้าง ที่ปล่อยปละละเลยให้มหาวิทยาลัยไปดำเนินการทั้งหมด ขาดความใส่ใจกำกับดูแลและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์ในจุดที่ไม่น่าเกิดเช่นนี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ศรัทธา และความเชื่อถือของสาธารณชนมาก
ก่อนการสอบสื่อมวลชนได้ตีข่าวว่า การสอบแข่งขันท้องถิ่นนั้นเป็นวงจรอุบาทว์ที่จะเป็นข้าราชการท้องถิ่นต้องวิ่งเต้น โดยให้ข่าวการทุจริตเรียกรับค่าหัวสอบบรรจุท้องถิ่นถึงรายละ 4.5 – 6.5 แสนบาท ต้องล้างบางกันสักทีดีไหม การขจัดคนชั่วในระบบออกต้องใช้การล่อซื้อให้ได้หลักฐาน เพราะโจรก็คือโจรที่ไม่มีใบเสร็จหลักฐานเอาผิดได้ ที่จริงเรื่องนี้มีหลายวงราชการแต่ทุกหน่วยตรวจสอบโฟกัสมาที่ท้องถิ่นทั้งสิ้น และป่าวประกาศโทษคนท้องถิ่นว่าทุจริต การพาดหัวข่าวของสื่อทำให้ท้องถิ่นเสียหายได้
เกิดความบกพร่องของข้อสอบดราม่าข้อสอบขำๆ
มีความเป็นไปได้ เพื่อป้องกันการทุจริต เช่น ข้อสอบรั่วฯลฯ ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ข้อสอบก็ต้องออกให้ใช้คนน้อยที่สุด ใกล้ระยะเวลาสอบมากที่สุด เป็นสาเหตุที่เกิดความบกพร่องในการสอบแข่งขันท้องถิ่นขึ้นก็เพราะมาตรการป้องกันการทุจริตที่เข้มงวดนั่นเอง สมัยก่อนนั้นการสอบแข่งขันที่ดำเนินการโดยท้องถิ่นเองมีข่าวแพร่หลายขึ้นชื่อว่าทุจริตและส่วนใหญ่ก็ทุจริตกันจริงเป็นรูปธรรม ต่อมาการสอบแข่งขันปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบการสอบไป เพราะมีการดำเนินการโดยส่วนกลาง การทุจริตการสอบตรงจึงไม่มี มันแปรรูปไปอย่างอื่น เป็นการจ้างสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยดำเนินการสอบทั้งหมด
หลายอย่างคงเป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้แก้ไข อย่าให้เกิดซ้ำอีก ด้วยคุณภาพและมาตรฐาน ในปัญหาตัว “ข้อสอบหรือแบบทดสอบ” ที่เกิดขึ้น ข้อมูลจากผู้ข่าวสอบที่เผยแพร่ตามไลน์ ตามสื่อโซเซียล เป็นข่าวดรามาข้อสอบว่าพิมพ์พลาดผิดเยอะ อาจงง ทำให้การแปลความหมายตีความโจทย์ข้อสอบและตัวคำตอบที่ผิดพลาดไป เข้าใจความหมายเปลี่ยนไปหมดมีผลทำให้ต้องเดาข้อสอบ การพิมพ์ผิด พิมพ์ตก พิมพ์เกิน ไม่มีการตรวจทาน ทำให้ขาดคุณภาพในเรื่อง “ความเที่ยงตรงของข้อสอบ” (Validity) ขอยกมาดูเช่น ไม่ให้/ไม่ได้ , สารมารถ/สามารถ , สื่อปฏิกูล/สิ่งปฏิกูล , ทางเท่า/ทางเท้า, ตลาด เป็นตลอด, ก๊าซในสตรีออกไซด์, เขายอดบ้าน, ประเทศกัมพล,อริยสัตว์, แรง-เอา/แสงเงา, สีเบญจางค์/สีเบญจรงค์, สีอดอลิช์ก/สีอะคริลิค, ลายลดนั่ง/ลายรดน้ำ, โกชิก/โกธิค, ศาสนาศริสต์, สื่อปฏิกูล/สิ่งปฏิกูล, นโยบายประกันสุขภาพด้านหน้า/ถ้วนหน้า/ด่านหน้า, พละศึกษา(พลศึกษา), ผัวหาม(หาบ)เมียคอน ฯลฯ
อย่างไรก็ตามข้อสอบประเภทนี้อาจเป็นข้อสอบลวง หรือมีเจตนาลวงเพื่อให้ผู้สอบหลงผิด แต่การลวงข้อสอบนั้นก็ใช่ว่าจะลวงได้หมดทุกคำถาม เพราะ การเป็นการลวงที่ผิดพลาดจนความหมายเปลี่ยนแบบนี้ เช่น ลวงแล้วเข้าใจผิดตีความผิดหรือ ลวงจนความหมายยากจะตีความ หรือ ลวงแล้วทำให้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง (ที่สุด) เป็นต้น
หวังกันว่า ที่ยกตัวอย่างข้างต้นผู้เข้าสอบจะได้คะแนนเพิ่ม/คะแนนฟรีกัน อาจมากถึง 10 ข้อหรือกว่านี้ คอยดูแล้วกันจะหมู่หรือจ่า เพราะประเด็นปลายเหตุมีคือ (1) การทุจริตในการสอบมีหรือไม่เพียงใด (2) ความบกพร่องที่เกิดใครต้องรับผิดชอบบ้าง(3) หลักเกณฑ์การสอบฯมีการแก้ไขที่ผิดจากหลักคุณธรรมหรือไม่
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 20 กรกฎาคม 2562