ต้องทำในเรื่องที่ควรทำ บทความโดยดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ต้องทำในเรื่องที่ควรทำในที่สุดเราก็ได้เจ้ากระทรวงศึกษาธิการเสียที หลังจากว่างเว้นมานานถึง ๔ เดือน แปลกแต่จริงนะครับที่มีคนในวงการศึกษา กล่าวว่า ก็ดีนะ ๔ เดือนที่ผ่านมา คิดอยากจะทำอะไรก็ได้ทำ ไม่มีคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่เป็นรายวัน อ้าว ! เป็นงั้นไป
เจ้ากระทรวงชุดนี้ผมคิดว่าทำงานง่ายกว่าทุกชุดที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แผนปฏิรูปการศึกษามีมากมายหลายฉบับ ( ฉบับของกระทรวงศึกษาธิการ ของสภาปฏิรูปประเทศ ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา) เพียงแต่เรียงลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้ดีก็คงสำเร็จไม่ยาก สิ่งที่เป็นเรื่องดีงามก็ควรดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ริเริ่มมาจากรัฐบาลอื่น พรรคอื่นก็ตาม และหากตัดสินใจดำเนินการต่อก็ไม่ต้องเขินอายที่จะใช้ชื่อเดิม ไม่เช่นนั้น จะเกิดปรากฏการณ์ โรงเรียนหนึ่งแห่งเคยเป็นทั้ง โรงเรียนชุมชน โรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนร่วมพัฒนา ฯลฯ
ควรเลือกทำเรื่องที่เป็น “คานงัด” หรือ “ข้อเหวี่ยง” ทางการศึกษา กล่าวคือ ทำเรื่องหนึ่งส่งผลกระทบทางบวกไปอีกหลายเรื่อง งานที่น่าทำ เช่น การปรับหลักสูตร การปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน การปรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สำหรับเรื่องโครงสร้างทางการศึกษา และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพครู ซึ่งถูกทำลายโดยสิ้นเชิงและเป็นมรดกบาปของรัฐบาล คสช.ก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำ แต่ควรทำเป็นเรื่องรองจากเรื่องคุณภาพการศึกษา ท่านรัฐมนตรีไม่ควรมาทำเรื่องที่เป็นรายละเอียด เช่น จะให้โรงเรียนสอนหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม จะรื้อฟื้นการท่องอาขยาน การท่องสูตรคูณและเลขคณิตคิดในใจ เป็นต้น เรื่องแบบนี้ให้โรงเรียนคิดและตัดสินใจเองจะดีกว่า หากท่านรัฐมนตรีกระแอมกระไอเรื่องเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้บ่อยๆ เชื่อเถอะ เดี๋ยวต้องมีเสือปืนไวสั่งการให้โรงเรียนทำ ทั้งๆที่โรงเรียนก็ทำอยู่แล้ว มิหนำซ้ำอาจจะจัดงบประมาณสนอง นโยบายท่านรัฐมนตรี เพื่ออบรมครู จัดงบซื้อแบบเรียน สื่อสำเร็จรูป จัดประกวดแข่งขัน รับรางวัล เกี่ยวกับ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม เลขคณิตคิดในใจ สูตรคูณ อาขยานโอ ! ช่างเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียจริงๆ
ปรารถนาให้ท่านรัฐมนตรีกำหนดภาพความสำเร็จของ งานการศึกษาให้ชัดเจน กำหนดยุทธศาสตร์ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนปัจจัยอย่างเป็นธรรมให้พอเพียงต่อการพัฒนาคุณภาพ พัฒนาระบบแรงจูงใจให้มีประสิทธิภาพ ส่วนการปฏิบัตินั้นควรกระจายอำนาจให้พื้นที่และโรงเรียนคิดเองทำเองให้มากที่สุด แค่นี้ก็ฉลุยแล้วครับท่าน
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กดร.รังสรรค์ มณีเล็ก