ชงรัฐสานต่อโครงการครูคืนถิ่น-เป้าหมายระยะยาว
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชงรัฐสานต่อโครงการครูคืนถิ่น-เป้าหมายระยะยาวประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ฯดั้งเดิม ห่วงและกังวลคุณภาพการผลิตครู ชงรัฐบาลสานต่อโครงการครูคืนถิ่น พร้อมเสนอแผนระยะยาว
วันนี้(17 ก.ค.)รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์กลุ่มมหาวิทยาลัยดั้งเดิมของรัฐ16สถาบัน +7สถาบันเปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ฯได้หารือกันเกี่ยวกับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นหรือครูคืนถิ่น ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี2557ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ยุติลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่ได้มีการแจ้งการยุติหรือดำเนินการโครงการให้สถาบันผลิตครูทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตครูและการได้ครูคุณภาพของประเทศเพื่อส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศตามภูมิลำเนาของบัณฑิตครู ดังนั้นที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ฯมีมติที่จะเสนอต่อรัฐบาลคือควรให้มีการดำเนินการโครงการครูคืนถิ่นต่อไปและต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตและการบรรจุครูในระยะยาว
รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวต่อไปว่าสำหรับเป้าหมายการผลิตและการบรรจุระยะยาวมีดังนี้
1.กำหนดให้มีอัตราทุนสำหรับนิสิตนักศึกษาทุนครูคืนถิ่นเพิ่มขึ้นจากเดิม25%เพิ่มอีกปีละ5%ตั้งแต่ปี2563-2567 รวม5ปี มีอัตราบรรจุทุนการผลิตครูระบบปิด50 %
2.ส่วนนิสิตนักศึกษาทุนเฉพาะวัตถุประสงค์ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วเช่นโครงการทุนครูรักษ์ถิ่น หรือโครงการอื่นที่ดำเนินการผลิตครูสู่ท้องถิ่นควรกำหนดให้มีอัตราบรรจุปีละ2% โดยมีเป้าหมายอัตราบรรจุทุนครูระบบปิดเมื่อครบ5ปีตั้งแต่ปี2563-2567จำนวน10%
3.ทุกโครงการที่ดำเนินมาก่อนแล้วมีจุดประสงค์เดียวกันและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอาทิโครงการเพชรในตมหรือโครงการอื่นอันเป็นโครงการร่วมมือของหน่วยงานของรัฐต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าเทียมกันกับโครงการครูรักษ์ถิ่น
4.ต้องลดอัตราบรรจุที่แข่งขันเฉพาะครูอัตราจ้างของแต่ละสังกัด จาก25% ในช่วงปี2563-2567รวม 5ปี ลงปีละ5%จนสิ้นสุดโครงการเนื่องจากครูอัตราจ้างของหน่วยงานต้นสังกัดลดลงตามลำดับ
และ5. ส่วนปี 2567ควรจะมีเป้าหมายการผลิตครูระบบปิด60%และการผลิตครูระบบเปิด40%
“ที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ฯมีความห่วงใยและกังวลต่อคุณภาพการผลิตครูและการใช้ครูของประเทศ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ มีหลายหน่วยงานมีความเกี่ยวข้องและเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายและส่งเสริมสนับสนุนแต่ขาดความเป็นเอกภาพ มีความซ้ำซ้อน และต่างคนต่างทำ ขาดความร่วมมือ การเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ จึงควรที่หน่วยงานต่างๆควรได้มาวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาร่วมกันจัดทำแผนการผลิต อย่างจริงจังต่อไป”รศ.ดร.ศิริเดชกล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562 เวลา 07.10 น.